วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่ โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

 ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่ โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเรื่องที่เขียนลงในคอลัมน์ "ซอยสวนพลู" ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ตั้งแต่วันเสาร์ที่ ที 20 สิงหาคม 2531ถึง วันเสาร์ที่ 5พฤศจิกายน 2532  ซึ่งผู้เขียนกล่าวไว้ว่า " เป็นความพยายามที่จะนำเอาสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในเรื่องขุนช้างขุนแผน อันเปรียบเสมือนขุมทรัพย์อันใหญ่นั้นออกมาให้ดู และชี้แจงว่าอะไรเป็นอะไร และมีความสำคัญอย่างไร"
 ท่านผู้เขียน ได้ปรารภในบทแรกว่า มีท่านผู้รู้บางท่านได้แสดงความเห็นว่าหนังสือเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นหนังสือไร้ศีลธรรมและเป็นตัวอย่างไม่ดีควรเผาทิ้งเสีย(คำว่าเผาทิ้ง นี้เป็นกระแสหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กระแสประชาธิปไตยเบิกบาน ได้ต้นเค้ามาจากปฎิวัติวัฒนธรรมในเมืองจีน ที่ปฎิเสธ
วัฒนธรรมศักดินาล้าหลัง และขัดขวางกระบวน การประชาธิปไตย-คำว่าเผานั้นบางกระแสบอกว่าเป็นเพียงไม่ให้เกียรติ ยกย่องเชิดชู วัฒนธรรมประเพณี ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ ประชาชน รวมทั้ง การไม่ยกย่องในสิ่งที่เป็นความชั่วความเลว เช่นการกดขี่ทางเพศ   เยี่ยงที่พระเอกปฏิบัติ จนเป็นที่มาของสำนวนที่ว่า "อํญเชิญความชั่วขึ้นพานทอง" มิได้หมายถึงการเผาจริงๆ)
 สิ่งที่ท่านผู้เขียน มอง  กับกระแส สังคมในสมัยนั้น ก็นับว่ามีเหตุผลด้วยกันทั้งสองฝ่ายแต่ต่างกันตรงจุดยืน ท่านผุ้เขียน ทบทวนเรื่องขุนช้างขุนแผนในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม  การเมืองการปกครอง ประเพณี ในสายตาที่จะชี้ให้เห็นว่ามีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไร ไม่ว่าจะชอบหรือชังก็เป็นรากเหง้าที่มาของสังคมไทย ที่สะท้อนภาพตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายมาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นคือถึงสมัยรัชกาลที่สี่ (ถ้าจะศึกษาต่อต้องอ่าน สี่แผ่นดินซึ่งเป็นเรื่องราวตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้าเป็นต้นมา) ขุนช้างขุนแผน เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นดังที่กล่าว ท่านบอกว่าขุนช้างขุนแผนเป็นเสภา ที่เกิดจากคนคุกยกย่องคนคุก เป็นความบันเทิงของคนคุก ฉะนั้นพระเอกของเรื่องจึงเป็นคนคุกและการเก็บเรื่องราวรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราวภายในคุกจึงทำได้ชนิดมองเห็นภาพ การบันทึกเรื่องราวของขุนช้างขุนแผนเป็นไปในรูปมุขปาฐะ คือจำต่อๆกันมาโดยการขับเสภา เบื้องต้นท่านวิเคราะห์ว่าดนตรีที่ใช้คือเสียงโซ่ตรวนของคนคุกและพัฒนาต่อมาจนเป็นกรับ เป็นดนตรีไทย รับกันต่อๆมา ท่านผู้เขียนได้วิเคราะห์ ถึงที่มาที่ไปให้เกร็ดความรู้ในเรื่องศัพท์แสงที่อยู่ในวรรณคดีเรื่องนี้ เช่นคำว่าทิม มาจากคำว่าทรึมของเขมร และมีคำศัพท์อื่นๆอีกหลายเรื่องหลายราว รวมทั้งภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ที่ปรากฎอยู่ในวรรณคดีเรื่องนี้ ทำให้คนรุ่นหลังเข้าใจเรื่องราวมากขึ้น เจตนาของผู้เขียนก็เพื่อให้ท่านผู้อ่านซึ่งเป็นคนรุ่นหลังเข้าใจที่มาที่ไปของวรรณคดีเรื่องนี้และได้รับรสแห่งวรรณคดีไปด้วย และที่สำคัญท่านผู้เขียนต้องการให้อ่านฉบับเดิมซึ่งท่านชี้ให้เห็นว่ามีอะไรดีๆอยู่ในนั้น มากมาย โดยรวม วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนท่านผู้เขียนมองเห็นคุณค่าและชี้ให้เห็นถึงความอ่อนด้อย โง่เขลาเบาปัญญา และความเป็นมาของการเมืองการปกครองไทย
รวมถึงประเพณีกินสินบาทคาดสินบนในสังคมไทย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับราชการ และทีขาดไม่ได้คือเกี่ยวกับคนคุก ท่านชี้ให้เห็นว่า วรรณคดีขุนช้างขุนแผน หลายคนแต่งจดจำขับขาน จดจาร ต่อเนื่องกันมา จนแตกปลายหมุนวนปะติดปะต่อ จนเป็นวรรณคดีอย่างที่เราท่านได้เคยอ่านกันอยู่บ้าง ส่วนมุมมองที่มาจากจุดยืนของแต่ละท่านจะตีความเห็นด้วยไม่เห็นด้วยชอบหรือชังก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละท่านแต่สิ่งหนึ่งที่เราท่านไม่อาจปฎิเสธ ได้ก็คือรากเหง้าที่ดำรงอยู่จริงและบางเรื่องก็ยังดำรงอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน เห็นควรหันกลับไปอ่านขุนช้างขุนแผนอีกครั้งหลังจากได้ข้อมูลของท่านผู้เขียนขุนข้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่ กันอีกสักทีดีไหมเหมือนกับการหันกลับไปส่องกระจกเงาดูหน้่้าตาตัวเอง ดังคำกล่าวที่ว่า" ดูสังคมจากวรรณคดี ดูวรรณคดีจากสังคม" ไงครับท่าน

วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

พระบาลี มหาสติปัฎฐานสูตร

ถ้าสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เปรียบเหมือนใบไม้ทั้งป่า แต่สิ่งที่ท่านนำมาสอนเท่ากับใบไม้กำมือเดียว คือท่านสอนเรื่องทุกข์กับดับทุกข์ ทุกข์ในที่นี้คือ ทุกข์อุปาทาน(ตัวกู-ของกู) ซึ่งเป็นทุกข์ทางใจ ส่วนทุกข์ทางกายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เช่นปวดหัวตัวร้อนก็ต้องไปหาหมอรักษา เป้าหมายของชาวพุทธ คือ ทำ พระนิพพานให้แจ้ง ถ้านิพพานหมายถึงความดับเย็น แห่งจิต ทำอย่างไรเล่าจึงจะไปถึง
"ภิกษุ ทั้งหลาย หนทางนี้ เป็นหนทางไปทางเดียว เพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย -เพื่อการก้าวล่วงเสียซึ่งความโศกและความร่ำไรรำพัน-เพื่อความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งทุกข์และโทมนัส -เพื่อบรรลุธรรมอันสัตว์พึงรู้-เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง หนทางนี้คือ สติปัฏฐานสี่ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าทฤษฎี หรือปริยัติที่ว่าด้วยการดับทุกข์
      โครงสร้างแห่งมหาสติปัฎฐาน
 เพื่อกำหนดเนื้อความได้ชัดเจนแม่นยำ ควรทราบโครงของบาลีนี้เสียก่อนอย่างกว้างๆ ท่านแบ่งเป็นสี่หัวข้อใหญ่ แล้วแบ่งย่อยออกได้ดังนี้คือ
 1 กายานุปัสสนาสติปัฎฐาน  พิจารณาโดยวิธีต่างๆคือ
              1 อานาปาน  รู้กายคือลมหายใจ    มี 4 อย่าง
               2  อิริยาบท รู้กายคืออิริยาบท      มี4 อย่าง
                3  สัมปชัญญะ  รู้กายคือการเคลื่อนไหว   มี  7 อย่าง
               4 ปฎิกูล   รู้ของไม่สะอาดในกาย มี 31  อย่าง
               5  ธาตุ     รู้กายประกอบด้วยธาตุ มี 4 อย่าง
               6  นวสีวถิกา  รู้กายเปรียบด้วยซากศพ  มี  9 อย่าง

2 เวทนานุปัสสนาสตืปัฎฐาน      พิจารณาเวทนาทั้งสามโดยอาการต่างๆ มีสุข มีทุกข์  มีเจืออามิส หรือไม่มีเจืออามิสเป็นต้น    มี 9 อย่าง

3   จิตตานุปัสสนาสติปัฎฐาน    พิจารณาจิตที่มีภาวะต่างๆกันมีเจือด้วย กิเลสหรือไม่ เป็นต้น มี 16 อย่าง

4  ธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน  พิจารณาธรรมทั้งหลายเป็นข้อๆคือ
                   1   ว่าด้วยนิวรณ์    มี  5  อย่าง
                    2  ว่าด้วยอุปาทานขันธ์  มี  5 อย่าง
                    3   ว่าด้วยอายตนะภายในภายนอก   มี  6  อย่าง
                    4   ว่าด้วยโพชฌงค์    มี   7  อย่าง
                     5  ว่าด้วย อริยสัจ      มี 4  อย่าง คือ  
                     ก.  ทุกข์ 12  ชนิด
                     
                      ข.   สมุหทัย  10  หมวด

                       ค.  นิโรธ  10 หมวด

                       ง. มรรคมีองค์ 8   องค์
 เมื่อได้ทฤษฎี หรือปริยัติแล้ว สิ่งที่จะต้องทำต่อไปก็คือการปฎิบัติ อย่างต่อเนื่อง โดยใช้หลักอิทธิบาท 4  คือ ฉันทะ  วิริยะ  จิตตะ  วิมังสา จนกระทั่งได้รับผลคือปฎิเวธ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน อย่าลืมว่าเป้าหมายก็คือ  "ทำพระนิพพานให้แจ้ง"   ส่วนการจะไปปฎิบัติ กับครูบาอาจารย์สำนักไหนก็ลองตรวจสอบดูว่าสอดคล้องกับมหาสติปัฎฐานสูตรหรือไม่ มิฉะนั้นจะกลายเป็นสวนทางนิพพานไป อันเป็นทางมิใช่ทาง ส่วนรายละเอียด หาอ่านเอาจาก มหาสติปัฎฐานสูตร พุทธทาสภิกขุ แปล หรือไม่ก็หาอ่านเอาจากบทสวดมนต์แปลก็ได้ ตามแต่สะดวก ในส่วนของโครงสร้าง ลอกเอามจากที่ ท่านพุทธทาสท่านแปลไว้

                       

วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555

รัฐสัตว์ ( ANIMAL FARM ) โดย George Orwell

แอนนิมอล ฟาร์ม  หรือรัฐสัตว์ เป็นวรรณกรรม ที่เขียนขึ้นมาเพื่อสะท้อนและเสียดเย้ยการปฎิวัติ ที่ใช้ตัวละครเป็นสัตว์สะท้อนภาพของการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของมนุษย์ โดยการดิ้นรนปฎิวัติเพื่อไปสู่สังคมอุดมคติ เมื่อพังทะลายการกดขี่ขูดรีด การเอารัฐเอาเปรียบจากผู้ปกครองทรราช ในนามของรัฐบาลหนึ่งแล้วความหวัง ที่จะมีชีวิตที่ดีกว่าก็เจิดจ้าขึ้น ยอมอุทิศทำงานหนักในนามของอุดมการณ์ เพื่ออนาคตตัวเองและลูกหลาน ในช่วงเปลี่ยนผ่าน งานหนัก ความเป็นอยู่ก็ยากลำบากเหมือนเดิม บางทีกลับหนักกว่าเดิม เสียด้วยซ้ำ ทำนองเหลือบฝูงเก่า กับเหลือบฝูงใหม่ในนิทานอีสป ที่ไล่เหลือบฝูงเก่าไปเหลือบฝูงใหม่ก็จะมาดูดเลือดกินอย่างหิวกระหายสร้างความเดือดร้อนให้ยิ่งกว่าเหลือบฝูงเก่าที่กินจนอิ่มแม้จะลำบากที่ถูกเกาะกิน แต่ก็ไม่ลำบากเท่าความตระกรุมตระกรามของเหลือบฝูงใหม่ ผู้คนในสังคมมีชีวิตอยู่กับความหวังและความฝันลมๆแล้งว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่า แต่สุดท้ายก็เป็นได้แค่ความหวัง ทรราชเก่าจากไป
ทรราชใหม่ก็เข้ามาแทนที่ แอนนิมอล ฟาร์ม สะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงการปฎิวัติให้เห็น โดยเฉาะเจาะจงจะเน้นไปที่การปฎิวัติในรัสเซีย การก้าวขึ้นมาของชนชั้นปกครองใหม่ ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นปกครองด้วยกัน และความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน ถูกผู้เขียนสะท้อนออกมาโดยใช้ตัวละครที่เป็นสัตว์ และเลือกสัตว์ที่มีคุณสมบัติ สะท้อนภาพลักษณ์ ของคนแต่ละชนชั้น แบบเสียดเย้ยชนิดขำลึกจนเจ็บจุกสังคมรัสเซีย ปฎิวัติขับไล่พระเจ้าซาร์ โดยมีธงนำแนวความคิด ของมาร์กซ์ โดยที่เลนินเป็นผู้นำมาประยุกต์ใช้ จนกลายเป็นทฤษฎี มาร์กซ์- เลนินอันลือลั่นส่งผลสะเทือนไปทั้งโลก ต่อมาอำนาจถูกถ่ายมือไปยังสตาลิน โดยความขัดแย้งและช่วงชิงอำนาจกับ ทร๊อตสกี้ สร้างความเดือดร้อนส่งผลกระทบไปสู่ประชาชนที่ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางของเรื่องราว และสุดท้ายเหมือนคำกล่าวอมตะ ที่ว่าผู้ชนะก็คือผู้เขียนประวัติศาสตร์ ประชาชนยังคงอยู่กับความหวังความฝันลมๆแล้งกับสิ่งที่เรียกว่าชีวิตที่ดีกว่า โดยผ่านอุดมการณ์ปฎิวัติครั้งแล้วครั้งเล่า เหลือบฝูงเก่าถูกโค่นลงไป เหลือบฝูงใหม่ที่พรางตัวได้แนบเนียนกว่าก็เข้ามาแทนที่ จนกว่าวันหนึ่งประชาชนจะตื่นรู้ และคนในสังคมส่วนใหญ่ที่มีอำนาจตื่นรู้ และตระหนักถึงพิษภัย ของความ โลภ โกรธ หลง กระมังสังคมยูโทเปียที่นักคิดใฝ่ฝันจะปรากฎเป็นจริงขึ้นมาได้ ซึ่งจะเป็นเมื่อไหร่นั้น มิรู้เลย แอนนิมอล ฟาร์ม โดยGorge Orwell เป็นกระจกเงาสะท้อนสังคม
ที่การดิ้นรนไปสู่สิ่งที่ดีกว่า จบลงตรง ท่วงทำนอง อัปรีย์ไปจัญไรมา ก็เห็นจะไม่ผิดความจริง ลองหาอ่านดูเถอะครับ

วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2555

ต้นส้มแสนรัก โดย โจเซ่ วาสคอนเซลอส สมบัติเครือทอง แปล

ต้นส้มแสนรัก โดย โจเซ่ วาสคอนเซลอส แปลโดย สมบัติเครือทอง เป็นนิยายเยาวชน แบ่งออกเป็นสองภาค ภาคแรกเป็นเรื่องราวของ ของเด็กชาย คนหนึ่งซึ่งเกิดมาในครอบครัวยากจน มีพี่น้องหลายคน มีทั้งพี่สาวและพี่ชาย รวมทั้งน้องชาย พ่อมักจะตกงานอยู่เสมอ ส่วนแม่ก็ต้องทำมาหากินทำให้ไม่มีเวลาที่จะมาพะเน้าพะนอ ปล่อยให้เขาอยู่กับพี่สาวบ้าง พี่ชายบ้าง เด็กอายุแค่สามสี่ขวบต้องอยู่ในโลกแห่งความฝันและจินตนาการของตนเองใช้ชีวิต แก่นแก้ว แสนซน ไปตามจินตนาการของตนเอง ใช้เชาว์วัยไหวพริบ ของตนในการเอาตัวรอดและเล่นสนุกไปวันๆ ชนิดที่คนรอบข้างไม่เข้าใจ และจบลงด้วยการทำร้ายทุบตีเขาเป็นประจำ ทำให้ต้องหดกลับชีวิตไปอยู่ในโลกของจินตนาการ ซึ่งเต็มไปด้วย ความฝัน ความหวัง เขาโหยหาพ่อที่รักเขา และเข้าใจเขา โดยการเอาคนนั้นคนนี้มาเปรียบเป็นพ่อ ทดแทนในสิ่งที่ตัวเองมีแต่เข้าไม่ถึง ความลำบากยากแค้นของครอบครัวทำให้ต้องย้ายถิ่นที่ ในโลกแห่งจินตนาการเขามีต้นส้มเป็นเพื่อน พูดคุย บอกเล่าความในใจ เล่าเรื่องราวประสบการณ์ในแต่ละวันให้ฟังเป็นการระบายออกทางหนึ่งของความเจ็บปวดที่ไม่มีใครเข้าใจเขา การเล่นซุกซนการเล่นแผลงๆยิ่งทำให้ความเข้าใจของผู้คนและเขามีช่องว่างห่างกันออกไปจนแม้แต่ คนที่รักเขาและเข้าใจเขาในที่สุดก็ต้องจากไปเพราะอุบัติเหตุรถไฟชน มิหนำซ้ำต้นส้มที่เขารักเสมือนเพื่อนและเป็นผู้ที่เข้าใจเขามากที่สุด ก็ประสบชตากรรมถูกโค่นทำลายไป ทำให้รู้สึกช็อคกับชีวิตในความสูญเสีย

ภาคสอง เขาเริ่มโตวัยสิบกว่าขวบถูกยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของสามี ภรรยาคู่หนึ่งที่มีฐานะดีกว่าครอบครัวเดิมแต่อยูกันคนละเมือง เรื่องราวของเขาก็ยังคงเป็นเรื่องของการเล่นซนแผลงๆตามประสาเด็กและถูกบังคับให้อยู่ในกฎเกณฑ์ ซึ่งเขาก็มักแหกกฎฉีกกรอบกติกาอยู่เป็นประจำทำให้ถูกลงโทษอยู่เนืองๆ มีทั้งความผิดมากความผิดน้อย ต่างกรรมต่างวาระสร้างความสุขให้กับผู้อ่านได้ติดตามโลกส่วนตัวของเขาและทำให้เข้าใจเด็กๆมากขึ้น บางครั้งบางคราวก็มิใช่ความผิดของเขาโดยตรงเป็นความผิดอ้อมๆแต่เขาได้รับการลงโทษอย่างไม่ยุติธรรม บางครั้งกติกาของผู้ใหญ่ก็ต้องยอมจำนนต่อสิ่งทีเขาคิดและกระทำแบบตรงไปตรงมาตามประสาซื่อ เขามีทั้งครูที่เข้าใจเขายืนอยู่ข้างเขาคอยให้กำลังใจมาโดยตลอด มีคางคกเป็นเพื่อน บาดหลวงทีเอ็นดูเขา และมีผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจและยอมรับในความแก่นแก้วแสนซน ลงโทษ จนเขาต้องหดกลับชีวิตไปอยู่ในโลกของจินตนาการ มีดาราหนังเป็นพ่อในจินตนาการ ทดแทนพ่อจริงๆที่มีช่องว่างระหว่างกัน มีแม่บ้านปากร้ายใจดีเอื้อเอ็นดูเขา ในสิ่งที่เขาสร้างความวุ่นวายให้ด้วยการปกปิดไม่ให้พ่อแม่บุญธรรมรู้ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงไปจนถึงการลักขโมยผลไม้เพื่อนบ้านและแม้กระทั่งเรื่องใหญ่โตขนาดสร้างความวุ่นวายให้สังคมละแวกใกล้เคียง ที่ทำเสียงผีปีศาจวิญญาณให้ผู้คนตื่นตระหนกว่้วุ่นในสิ่งทีเขาทำ และกิจกรรมแผลงๆก็ค่อยซาลงเมื่อเขาโตขึ้น โลกแห่งจินตนาการ ที่ปรึกษาในห้วงความคิดคำนึงก็ค่อยๆทะยอยถอยห่างออกไป จนแม้กระทั่งมีความรักก็มีการพลัดพรากจากกันในโลกแห่งความเป็นจริง เป็นบทเรียนที่สอนให้เขารู้จักชีวิตในอย่างที่มันเป็นไม่ใช่ในจินตนาการ ต้นส้มแสนรักเป็นนิยายเยาวชนที่มีลีลาการเขียนที่ให้โลกแห่งจินตนาการทับซ้อนกับโลกแห่งความจริงแบบกลับไปกับมาเหมือนโลกแห่งความจริงกับความฝันอยู่ในแนวระนาบเดียวกันจนบางทีผู้อ่นคล้อยตามจนลืมตนว่านี่คือโลกแห่งความจริงหรือฝันกันแน่ รวมความว่าเป็นหนังสือทีสะท้อนปัญหาปฎิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ทำให้มีมุมมองที่เข้าใจเด็กมากขึ้นหรือบางทีผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่ก็อาจหวนนึกคิดกลับไปสู่วัยเด็กและมีปัญหากับผู้ใหญ่อย่างที่เคยเป็น และมีอารมณืร่วมในสิ่งที่ผู็เขียนสื่อออกมา

วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2555

ความสุขของกะทิ โดย งามพรรณ เวชชาชีวะ

ความสุขของกะทิ  โดย งามพรรณ เวชชาชีวะ เป็น วรรณกรรมซีไรต์ ที่เป็นเรื่องราวของตัวเอกของเรื่องเป็นเด็กหญิงชื่อกะทิ อาศัยอยู่กับ ยายและตา เรื่องราวดำเนินไปกับเหคุการณ์ในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องเล่าง่ายๆแต่มีเสน่ห์ เรื่องเล่าถึงเหคุการณ์ที่บ้านที่โรงเรียน กะทิมีแม่ที่ป่วยเป็นโรค แอล เอส ดี ที่นับเวลาถอยหลังกับการมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ทำให้ต้องแยกไปรักษาตัวที่บ้านชายทะเล เด็กหญิงกะทิ ต้องอยู่กับตาและยาย ที่เป็นคนแก่ใจดี มีลุงซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับแม่มาเป็นตัวละครสำหรับเดินเรื่อง มีน้าชายและหญิงที่มิได้เป็นญาติแต่เคยทำงานกับแม่จนผูกพันเป็นเหมือนญาติ แวดล้อมกระทิจนรอบตัวเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความสุข สุดท้ายแม่ก็จากไป กะทิได้รับส่งมอบบ้านที่แม่จัดเตรียมไว้ให้พร้อมกับอัลบั้มรูปและประวัติความเป็นมาของแม่ และพ่อที่แยกทางกัน แม่เตรียมจดหมายให้กะทิเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะติดต่อพ่อหรือไม่หลังจากที่แม่เสียชีวิต กะทิไปที่ไปรษณีย์และส่งจดหมายถึงพี่ทองที่เป็นเด็กวัดและคุ้นเคยมากับกะทิ แต่ได้รับการสนับสนุนจากหลวงตาให้ไปเรียนต่อเมืองนอก แทนที่จะส่งไปหาพ่อตามที่คนอื่นเข้าใจ ความลับนี้รู้กันเพียงสองคน ความสุขของกระทิเป็นเรื่องราวของเด็กหญิงที่เล่าด้วยภาษาเรียบง่ายไหลเลื่อนเก็บรายละเอียดบรรยากาศแห่งความสุขและความทรงจำทำให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมไปกับเรื่องราว ผู้อ่านสามารถอ่านได้ชนิดรวดเดียวจบแบบวางไม่ลง จากลีลาและสำนวนของผุ้เขียน

นักอยากเขียน โดยศุ บุญเลี้ยง

นักอยากเขียน โดย ศุ บุญเลี้ยง เป็นเรื่องราวชี้แนะผู้ที่อยากเป็นนักเขียนว่า ก่อนที่จะเป็นนักเขียน ต้องเป็นนักอยากเขียนก่อน และยกตัวอย่างอัตตชีวประวัติของตัวเองขึ้นมาเป็นตัวอย่างเริ่มตั้งแต่ พูดถึงผู้ที่เป็นแบบอย่างในการเขียน พูดถึงเรื่องความสำคัญในการอ่าน มิใช่เฉพาะแค่การอ่านหนังสือแต่เป็นการอ่าน โลกและชีวิต เก็บเกี่ยวประสบการณ์ และที่สำคัญต้องเป็นคนช่างสังเกตุ การสื่อสารภาษาเป็นสิ่งสำคัญที่ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของตัวเองให้กับผู้อ่านได้รับรู้ในสิ่งเดียวกัน เขาเล่าว่าแรกเริ่มได้แรงดลใจจากอาจารย์ที่สอนในมหาวิทยาลัยที่เอาเรื่องที่เขาเขียนไปอ่านหน้าชั้นแล้วให้ความเห็นว่าอนาคตน่าจะเป็นนักเขียนได้ นี่คือแรงขับเคลื่อนหนึ่งในหลายๆแรงขับ เช่น นิสัยที่ชอบซึ่งแตกต่างจากสังคมรอบข้าง ทำให้เป็นคน ชอบคิด ชอบสังเกตุในมุมที่แตกต่างกับคนอื่น การเขียนเริ่มจากการเขียนบันทึกประจำวันในวัยเด็กแล้วพัฒนามาเป็นบันทึกประจำตัวแทน การเขียนจดหมายและไปรษณีย์บัตรก็เป็นส่วนหนึ่งของการฝึก การได้ไปทำหนังสือชาวค่าย อารมณ์ขี้เล่น สนุกนึกในความคิดที่แตกต่างจากคนทั่วไปทำให้พัฒนาการเขียนและโดยเฉพาะเมื่อไปทำหนังสือไปยาลใหญ่ของสำนักศิษย์สะดือ ศุ บุญเลี้ยงพูดถึงอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวันเป็นตัวกระตุุ้นให้เกิดงานเขียน ไม่วาจะเป็นอารมณ์
ไม่พึงพอใจในเรื่องบรรยากาศการเชียร์ของชาวมหาวิทยาลัย จริตนิสัยในการดำเนินชีวิตที่ไม่ได้สอดคล้องกับชีวิตของคนอื่น ความรัก ความผิดหวัง ล้วนแล้วเป็นแรงขับดันให้เกิดการเขียน จนกลายมาเป็นนักเขียน รวมทั้งเป็นนักแต่งเพลง ด้วย ในบทหนึ่งของหนังสือ "นักอยากเขียน" เล่มนี้ยังมีบทสัมภาษณ์
ที่ผู้เขียนให้นิตยสาร ไรท์เตอร์สัมภาษณ์ รวมอยู่ด้วย ศุ บุญเลี้ยงมีผลงานรวมเล่มอยู่หลายเล่มที่เผยแพร่สู่ผู้อ่าน เป็นนักร้อง นักดนตรีอารมณ์ดี แนวเขียนของเขาก็มักอารมณ์ดัตามบุคคลิกไปด้วย เขาให้ข้อสังเกคุไว้ว่าเมื่ออยากเป็นนักเขียน ก็ต้องลงมือเขียน ไม่ต้องกลัวผิดกลัวเชย เขาบอกไว้บนปกหลังของหนังสือว่า "มีคนจำนวนมาก อยากเป็นนักเขียน แต่ไม่ค่อยเขียน ข้าพเจ้ามีคำแนะนำข้อแรกง่ายๆ สั้นๆว่า ให้ท่านเป็นนักอยากเขียนเสียก่อน ไม่ใข่คิดแต่จะเป็นนักเขียน โดยไม่ลงมือเขียนอะไรสักอย่าง"
เป็นคำแนะนำที่ไม่เลวและเป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธ สำหรับผู้ที่ใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียน ลองหา"นักอยากเขียน" มาอ่านดูเผื่อจุดประกาย นักเขียนในตัวให้ลุกโชนขึ้นมาได้ 

วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555

ขอบฟ้าทะเลกว้าง โดย อัศศิริ ธรรมโชติ

ขอบฟ้าทะเลกว้าง โดย อัศศิริ  ธรรมโชติ  เป็นนวนิยายขนาดสั้น เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มหญิงสาวที่มีชีวิตผูกพันอยู่กับท้องทะเล สาหร่าย-หญิงสาวมีพ่อที่เป็นลูกจ้างเรือประมง กับมีแม่ที่เป็นแม่ค้าขายปลาในตลาด มีชีวิตอยู่กับความยากจน จึงใฝ่ฝันว่าจะมีชีวิตที่ดีงามกว่า การจ่อมจมอยู่กับพ่อขี้เมาหลังจากกลับจากทะเล และการทะเลาะเบาะแว้ง ส่วนหนุ่มเมืองเป็นลูกกำพร้าพ่อตาย แม่ตายเพราะพิษแห่งความทุกข์ยากจากการมีชีวิตอยู่กับท้องทะเลที่มีแต่ความเปลี่ยนแปลง จากชาวประมงพื้นบ้านที่ถูกทุนใหญ่กว่า เครื่องไม้เครื่องมือดีกว่า เบียดดันพื้นที่ของชีวิตจนอยู่อย่างลำบากและตายไป ปล่อยให้หนุ่มเมืองอยู่กับลุงและได้เรียนรู้การหากินกับทะเลจากลุง หนุ่มเมืองกับสาวสาหร่ายพบรักกัน สาวสาหร่ายวาดฝันที่จะให้หนุ่มเมืองมีเรือประมงเป็นของตนเองเพราะไม่อยากมีชีวิตครอบครัวเป็นลูกจ้างที่ไร้ปัจจัยการผลิต ทั้งสองหนุ่มสาวตกลงหนีตามกันไปสร้างครอบครัวเพราะความขาดแคลน และย้อนกลับมาขอขมาพ่อแม่เพื่อสร้างครอบครัวในภายหลัง ความวาดฝันของสาหร่ายเดินไปตามฝัน มีเรือเป็นของตัวเองให้หนุ่มเมืองได้ออกทะเลไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร และสาหร่ายจะขายปลาที่หนุ่มเมืองจับได้ไม่ยอมเป็นเครื่องมือขายปลาให้กับนายทุนเหมือนอย่างที่แม่เป็น  ทั้งสองมีชีวิตครอบครัวอยู่บนความลำบากขาดแคลน มีลูกชายเป็นโซ่คล้องชีวิตหนึ่งคน ไปโรงเรียน ไม่มีแม้รองเท้าจะใส่ หนุ่มเมืองอยากจะไปมีชีวิตเป็นลูกจ้างเรือประมงของนายทุนเพื่อจะได้มีรายได้เพื่อมาจุนเจือครอบครัวแต่เมื่อหนุ่มเมืองพูดถึงการไปเป็นลูกจ้างเมื่อไรก็มักจะไปกระทบปมในใจและทำลายความฝันของสาหร่ายทำให้ทะเลาะเป็นปากเสียงกันเสียแทบทุกครั้ง หนุ่มเมืองชี้ให้สาหร่ายเห็นถึงการเปลี่ยนไปของยุคสมัย ชาวประมงพื้นบ้านถูกกระทบจากเรือประมงของทุนใหญ่ซึ่งแปรเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมมากกว่าการอยู่อย่างพอเพียง
ถึงหน้าฤดูมรสุมหนุ่มเมืองทะเลาะกับสาหร่ายเรื่องเดิม เรื่องการไปเป็นลูกจ้างเรือประมงใหญ่แต่สาหร่ายยืนยันความคิดเดิมที่จะเป็นเจ้าของกิจการ สุดท้ายหนุ่มเมืองพาเรือออกทะเลลึกไกลเกินกว่าที่เคยมา
สุดท้ายเจอมรสุมและถูกเรือใหญ่ชนจนเรือแตก สาหร่ายเฝ้ากระวนกระวายรอการกลับมาของหนุ่มเมือง
สุดท้ายหนุ่มเมืองถูกช่วยชีวิตกลับคืนสู่ฝั่ง และได้รับค่าชดเชยความเสียหาย สาหร่ายต้องการนำเงินที่ได้รับการชดใช้ไปทำอาชีพใหม่ ไม่ต้องการให้หนุ่มเมืองออกทะเลอีก แต่หนุ่มเมืองยืนยันที่จะเป็นชาวประมงต่อไปและบอกว่าทะเลต้องการคนแบบเขา ทะเลต้องการการบุกเบิกใหม่ๆ และย้ำให้สาหร่ายคิดถึงความฝันและยืนหยัดที่จะสานฝันต่อไป นวนิยายขนาดสั้นฝีมือของ อัศศิริ ธรรมโชติ นักเขียนรางวัลซีไรต์  ถ้อยคำลีลาสำนวน ไม่ผิดหวังเลยสำหรับคอวรรณกรรม

วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555

ห้วงยามแห่งความพ่ายแพ้ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

ห้วงยามแห่งความพ่ายแพ้  โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นหนังสือรวมความเรียง 9 เรื่อง
ประกอบไป บทแรก"ห้วงยามแห่งความพ่ายแพ้ "ซึ่งถูกนำมาตั้งเป็นชื่อของหนังสือเล่มนี้ นามเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ใครๆย่อมรู้จักดีในฐานะ ของขบวนแถวหน้าของการต่อสู้กับเผด็จการทหารเพื่อเพรียกหาสังคมที่ดีกว่า ผู้กลายเป็นนักรบแห่งป่าเขา กบฎแห่งกบฏ และเป็นอื่นๆอีกมากมาย รวมทั้งนักเขียน
ห้วงยามแห่งความพ่ายแพ้เป็นเรื่องของความคิดคำนึงและความผูกพันระหว่าง" นายผี "(อัศนีย์ พลจันทร์) กับตัว เสกสรรค์ ซึ่งมีลักษณะนิสัย และทิศทางแห่งอุดมคติสอดคล้องกันแต่ต่างกันตรงวันวัยและประสบการณ์ วันที่การปฎิวัติแห่งอุดมการณ์เข้ามุมอับ  เสกสรรค์เลือกที่จะลงจากเขามายอมรับสภาพความเป็นจริงว่าความหวังได้สูญสลายลงไปแล้ว แต่นายผี ที่เขาสนิทสนมจนถูกกล่าวหาว่าเป็น "เด็กลุง"
กลับเลือกที่จะทิ้งตำนานชีวิตไว้ให้เป็นตำนานของนักสู้ผู้ไม่ยอมค้อมหัวให้กับความไม่ถูกต้อง โดยไสช้างเข้าป่า ไปจบชีวิตในเมืองลาว สิ่งที่ทั้งเสกสรรค์ และนายผีได้รับ ขณะที่อยู่ร่วมในขบวนการปฏิวัติก็คือ ข้อกล่าวหาว่า "ค้านพรรค "ทั้งๆที่จริงแล้วเป็นเพราะ วิสัยทัศน์ที่ทั้งสองต่างมองเห็นเหมือนกัน และความไม่นิ่งดูดายที่จะสานฝันให้เป็นจริง ทำให้ผู้นำของขบวนการที่มีวิสัยทัศน์มืดบอดด้วยความมีอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตน ถึงกับ "แขวน "สถานะความเป็นหัวแถวในขบวนทัพของบุคคลทั้งสองเอาไว้ ไม่ให้มีบทบาทนำในขบวนทัพของประชาชน และสุดท้ายกาลเวลาก็พิสูจน์ความเป็นคนจริง
ของคนที่ถูกกล่าวหาว่าค้านพรรค ในขณะที่คนที่กล่าวหาซึ่งเป็นหัวขบวน "ยอมจำนน" สลายพรรคไปในที่สุด เรื่องราวของความผูกพันของคนทั้งสอง ถูกย้อนรอยรำลึกในงานศพ นายผี ขนาดที่ว่าลูกผู้ชายอย่างเสกสรรค์ ยังหลั่งน้ำตา
เรื่องที่สองเป็นเรื่องของความผูกพันกับสายน้ำของผู้เขียนเอง ตั้งแต่เกิด แม่น้ำบางปะกง  แม่น้ำเจ้าพระยาตอนศึกษาอยู่ธรรมศาสตร์  ลำน้ำแม่จันยามเหนื่อยนล้าของขบวนแถวปฏิวัติ  ลำน้ำจากห้วยขาแข้งเมื่อคราวละความฝันที่ไม่อาจไปถึงกับขบวนแถว แม้กระทั่งไปเรียนเมืองนอกก็ยังวนเวียนอยู่กับสายน้ำรวมทั้งสายน้ำแห่งทะเลอันดามัน ผู้เขียนเปรียบสายน้ำเป็นหญิงสาวที่ควรให้เกียรติและทะนุถนอม
ชีวิตที่ปล่อยลอยล่องดูกระแสน้ำ หากิจกรรมร่วมเช่นการตกปลา มีอารมณ์ร่วมบ้าง เรื่อยเฉื่อยเรื่อยฉ่ำบ้างก็เพียงเพื่อจะหาสิ่งที่มาทดแทนความรู้สึกปวดร้าวที่อัตตาสั่งสมไว้ในความเป็นตัวตน

ผู้ชายสายน้ำ และความหมายของเพศพันธ์ เป็นเรื่องราวความคิดคำนึงในความเป็นเพศหญิงของสายน้ำ
ปลาบางตัว  เป็นเรื่องราวของการใช้ชีวิตเป็นพรานเบ็ดเพียงเพื่อจะทำให้วันเวลาผ่านเลยไป ด้วยการออกทะเลตกปลา เพื่อหาพื้นที่ให้ชีวิตในยามไร้เป้าหมายที่เป็นรูปธรรม เปรียบเทียบกับปลาที่ต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด บางอารมณ์ผู้เขียนก็รู้สึกตื่นเต้นกับการเย่อกับปลา แต่บางคราวยามครุ่นคิดอารมณ์เริงรื่นกับมิปรากฏจนทำให้จับสังเกตุได้ว่าอารมณ์ที่มีต่อปลาแต่ละตัวไม่เหมือนกันสุดท้ายผู้เขียนก็หวนมาคำนึงถึงความหม่นหมองแห่งชีวิตที่ไม่อาจบรรลุฝันแห่งตนได้ในอดีตถึงกับเปรียบเทียบตนเองกับปลาบางตัวไม่ได้ว่า ยามอับจนปลากล้าแตกหักกับชีวิตเอาปากกระแทกเรือจนปากหัก ขณะที่เขาเองไม่กล้าขนาดนั้นเรียกว่าเทียบกันไม่ได้ถึงขนาดของใจ                                                                              
เด็กหนุ่มกับชายชรา
     เป็นเรื่องราวของการจากพรากของลูกชายที่ต้องไปศึกษาแดนไกล ทำให้หันกลับมาทบทวนชีวิตตนเอง ในเรื่องการจากพรากกับพ่อแม่ รวมทั้งต้องการให้ลูกชายได้พบครูทางจิตวิญญาณที่ไม่มีการศึกษาในระบบแต่ จบปริญญาชีวิตแห่งท้องทะเลพูคุยดถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนไปคุณธรรมค่านิยมก็ต่างกันไป
 รูปปั้นและงานแกะ  ท่ามกลางโบราณสถาน มนตืรักลูกเป้งและเรื่องสุดท้าย ฝ่าลมหนาว: เยือนภูผาแห่งความหลัง เป็นเรื่องราวของการกลับไปดูร่องรอยอดีต ไปดูประวัติศาสตร์ที่ตนเองมีส่วนร่วมในการจารึก
ไปหาญาติสนิทมิตรสหายที่ทุุ่มเททั้งชีวิตให้กับขบวนการปฏิวัติ แต่เมื่อการปฏิวัติล้มเหลวต่างคนต่างแยกย้ายหาอยู่หากิน ปํญญาชนมีทางเลือกมากกว่าในขณะที่ประดาเบี้ย ไม่ว่าเบี้ยคว่ำ หรือเบี้ยหงาย อยู่กันอย่างยากลำบาก สุดท้ายผู้เขียนได้รับการฝากลูกฝากหลานของสหายที่เคยร่วมชีวิตกันเมื่อครั้งก่อน
เพื่อมีชีวิตที่ดีกว่า แต่ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ทั้งๆทีสหายเดือดร้อน สุดท้ายผู้เขียนสรุปตนเองว่า "อ่านหนังสือนับพันเล่ม เดินทางมาหลายหมื่นลี้ แต่มิอาจทำให้คนเพียงหยิบมือเดียวมีชีวิตดีขึ้น "
บทสรุป "ห้วงยามแห่งความพ่ายแพ้ " เป็นเรื่องราวของการเปิดปากแผลของหัวใจของสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ เล่าเรื่องผ่านความครุ่นคิดทางอารมณ์ เพื่อหาทางหลีกเร้นจากตนตัวสุดท้ายก็พานพบแค่ความปล่อยวางเพียงชั่วขณะมิอาจลืมเลือนอดีตได้ตราบเท่าที่ยังไม่ก้าวขึ้นเหนือคลองแห่งความคิด
 "ห้วงยามแห่งความพ่ายแพ้ "เป็นเรื่องราวของการล้อเล่นกับอัตตาของคนๆหนึ่งซึ่งมีฐานะทางประวัคิศาสตร์ที่น่าลองหามาอ่านดู

วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555

ไตร่ตรองมองหลัก เขมานันทะ

 ไตร่ตรองมองหลัก โดยเขมานันทะ    เป็นบทความว่าด้วยศาสนาและปรัชญา เป็นงานบรรยายให้นักศึกษาปริญญาโท มหาลัยมหิดลและงานเขียน อื่นๆ หนังสือประกอบไปด้วยบทนำ ที่พูดถึงการยึดติดในความเชื่อทั้งในสิ่งที่เป็นรูปธรรมเช่นสำนัก อาจารย์  หรือสิ่งที่เป็นนามธรรมเช่นการเข้าถึงภาวะที่มนุษย์ใฝ่หาไม่ว่าจะมีชื่อเรียกว่าอะไร นิพพาน พรหม  พูดถึงความคิด จริยธรรมในระดับโลกียและโลกุตระว่าเนื่องด้วยความคิด ไม่ห้ามความคิด ไม่เข้าไปในความคิด เพียงแต่เฝ้ามองความคิดด้วยความตระหนักรู้
ทำนองรู้แล้วทิ้ง(รู้แต่ไม่รู้อะไร) เหมือนนิทานเซนที่บอกว่าไปตลาดแต่มิได้เอาอะไรกลับมา
บทแรก "สาระสำคัญแห่งวัชรญาณตันตระ เป็นคำบรรยายแก่นักศึกษาระดับปริญญาโทศาสนาเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา ในคำบรรยายพูดถึงความเข้าใจผิดๆของคนไทยเกี่ยวกับมหายาน นิกายตันตระ วัชระยาน และชี้ให้เห็นถึงความเป็นเอกยาน ไม่ว่าจะเป็นเถรวาทหรือมหายานสุดท้ายก็มุ่งตรงจุดหมายปลายทางสิ่งเดียวกันเพียงแต่มหายานมีคติที่จะเข้านิพพานเป็นคนสุดท้ายหลังจากช่วยส่งสรรพสัตว์เข้าสู่นิพพานแล้ว คือเป็นเรื่องมหาชน แต่ทางเถรวาทมีคติว่าการเข้าถึงจุดมุ่งหมายเป็นเรื่องเฉพาะตนไม่สามารถจะขนเข้าสู่เป้าหมายเป็นกองทัพธรรมได้   ในบทนี้ท่านได้กล่าวถึงความเข้าใจผิดในเรื่องตันตระว่าเป็นยุคสมัยที่แผ่คลุมไปถึงพวกฮินดูด้วยมิใช่มีเพียงพุทธศาสนา เท่านั้น และชี้ให้เห็นถึง การเสพย์ ในสิ่งที่คนไม่มีพื้นฐานของการเข้าสู่กระแสธรรม รับไม่ได้ ไม่เข้าใจ ทำให้มองว่าเป็นเรื่อง
นอกรีตนอกรอยไป ไม่ว่าจะเรื่องการเสพย์เนื้อ เสพย์สุรา และการเสพย์เมถุน ท่านชี้ให้เห็นว่าเป็นเรื่องเฉพาะ เป็นเรื่องวงใน ที่คนไม่ได้อยู่ในวงการไม่มีทางเข้าใจได้ และเป็นการกระซิบบอกต่อจากอาจารย์สู่ศิษย์แบบกระซิบตัวต่อตัว วิธีการแบบหนามยอกเอาหนามบ่ง เอาไฟไปดับไฟ เพราะว่าตัณหาราคะนั้นเป็นความตื่นของจิตเพียงแต่สติไม่ว่องไวพอทีจะโหนกระแสของความตื่นนี้ไปตระหนักรู้
บทที่สอง ข้อพินิจไตร่ตรอง ต่อความมีอยู่และไม่มีอยู่ของสิ่งต่างๆ  ซึ่งเป็นบทความในการสัมมนาทางวิชาการ ณ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้หัวข้อใหญ่ "สภาวะสูงสุดแห่งศาสนา" กล่าวโดยรวมๆเป็นเรื่องของความคิดและการเฝ้าดูความคิด การแยกผู้ดูออกจากสิ่งที่ดู เหมือนพยับแดด เห็นว่ามีแต่เมื่อเข้าไปดูใกล้ก็ไม่มีแต่พอถอยกลับออกมากลับมี
บทที่สาม" เหนือความคิด "เป็นการพูดถึงสูตรของเว่ยหล่าง ที่สรุปออกมาเป็นโศลกได้สองบทที่แตกต่างกันชนิดหนังคนละซีน
โสลกบทแรกเป็นของชินเชาซึ่งอยู่ในคลองความคิดของความมีอยู่ เป็นอยู่ความว่า
 "กายของเราคือต้นโพธิ
และใจของเราคือกระจกเงาอันใส
เราเช็ดมันอย่างตั้งใจในทุกๆโมงยาม
ทั้งไม่ยอมให้ฝุ่นธุลีปรากฎขึ้นได้ "

ส่วนโศลกอีกบทหนึ่งเป็นของเว่ยหล่างสังฆปรินายกสมัยยังเป็นอุบาสกทำงานอยู่ในโรงครัวสำนักวัดตุงชัน

 "ไม่มีต้นโพธิ
ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสว่าง
เมื่อทุกสิ่งว่างไร้
ฝุ่่นจะปรากฏได้ที่ไหน "
  ท่านเว่ยหล่างชี้ให้เห็นถึงจิตเดิมแท้ "ใครเลยจะนึกว่าแก่นสารทางใจนั้นบริสุทธิ์หมดจดอยู่เองแล้ว ใครเลยจะนึกว่า แก่นสารทางใจนั้นอิสระอยู่เองแล้วจากการเกิดขึ้นหรือการถูกทำลาย ใครเลยจะนึกว่าแก่นสารทางใจนั้นอิสระจากการเปลี่ยนแปลงโดยแท้จริง ใครเลยจะนึกว่าทุกๆสิ่งทุกๆอย่างคือการปรากฏออกแห่งแก่นสารแห่งใจ"

พรหมจรรย์และฐานแห่งการภาวนา เป็นบทสนทนาเรื่องสติปัฏฐานสี่กับอ. ปรีชา ก้อนทอง เมื่อมกราคม 2538
ท่านอธิบายถึงเรื่องสติปํฎฐานสี่ ตั้งแต่ เรื่องกาย เวทนา จิตและธรรม การเห็นความความคิดโดยอาศัยบาทฐานทั้งสี่เป็นตัวตั้งโดยมีหลักของการเคลื่อนไหว เพื่อรู้แต่ไม่รู้อะไร และกล่าวถึงสติไม่ใช่องค์คุณเดียวของพรหมจรรย์ ต้องมีสมาธิและปัญญาร่วมด้วยเพราะลำพังสติอย่างเดียวไม่อาจละเวรได้ โดยอธิบายว่า เวรคือเมื่อถึงรอบต้องทำอีก เช่นการอยู่เวรอยู่ยาม ท่านพูดถึงการรู้สึกตัวสดๆถ้วนๆล้วนๆ
เป็นประสาทสัมผัสไม่ผ่านคลองความคิด เพราะมนุษย์มักจะติดคิด และไม่สามรถหลุดออกมาจากคลองความคิดได้
ส่วนบทสุดท้ายที่เพิ่มเติมเข้ามาเป็น "โศลกคำสอนมหามุทราของติโลปะ "เป็นโศลกทั้งหมดยี่สิบแปดบท "โศลกธรรมยี่สิบแปดบท แห่งคำสั่งสอน มหามุทราของติโลปะต่อนโรปะ"
 โศลกคำสอนมหามุทรายี่สิบแปดบทของมหาคุรุมหาสืทธาติโลปะ ถูกถ่ายทอดสู่บัณฑิตย์แห่งกัศมีร์ นักพรตและสิทธานโรปะ ณ.ริมฝั่งแม่คงคา หลังจากนโรปะสำเร็จการบำเพ็ญตบะธรรม สิบสองประการ นโรปะถ่ายทอดคำสอนในภาษาสันสกฤตสู่ มารปะโบลสะโกรสะ อันท่านได้แปลอย่างอิสระเป็น๓าษาธิเบต ณ.หมู่บ้านบุลาหริพรมแดนธิเบต-ภูฐาน
 บทสรุปของโทหโกษ เป็นธรรมวาทะสุดท้ายแห่งการปฎิบัติมหามุทราแปลจากสันสกฟตเป็นธิเบตโดยนักพรตชาวอินเดียชื่อไวโรจนะ แปลเป็นอังกฤษโดยKlethDawman  (Zอนาคาริก Kunzan tenzin )และแปลเป็นไทโดย เขมานันทะ

บทสรปของโศลกนี้

 ปราศจากความคิด ปราศจากความไตร่ตรองพิจารณา
หรือแยกแยะโดยประการใด
ปราศจากสมาธิและทั้งปราศจากการกระทำ (กรรม) ใดๆ
ปราศจากความสงสัยกังขา หรือคาดหมาย
การปรุงแต่งก่อตัวทางจิต และสภาพฝัดใฝ่สลายไปเองแล้ว โฉมหน้าเดิมของความจริงพลันฉานฉาย

หนังสือ ไตร่ตรองมองหลัก ผลงานของเขมานันทะ ศิลปินแห่งชาติเจ้าของวาทะ การมีครูบาอาจารย์ไม่จำเป็นต้องมีแค่ครูบาอาจารย์คนเดียว ท่านเป็นศิษย์สวนโมกข์ผู้ปั้นอวโลกิเตศวรฝากไว้ และเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเทียน "ปรีชาญาณของผู้ไม่รู้หนังสือ"  จากคำพูดอันใสซื่อ แต่ฉุดกระชากความรู้สึกชนิดต้องฉุกคิด ว่า"ความรู้ที่ท่านเอามาพูดนี้เอามาจากไหน"
นี่กระมัง ที่ไม่ต้องชี้ชวนว่าควรหามาอ่าน "ไตร่ตรองมองหลัก" โดยเขมานันทะ

วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2555

สิทธารถะ (siddhartha) แฮร์มัน เฮสเส

สิทธารถะเป็นวรรณกรรม ซึ่งเป็นผลงานของนักเขียน รางวัลโนเบลชาวเยอรมัน แฮร์มัน เฮสเส
สิทธารถะเป็นเรื่องราวของมานพหนุ่มในตระกูลพราหมณ์ ชื่อสิทธารถะ ที่แสวงหาสัจจธรรมด้วยตนเองหลังจากที่ออกบวชพร้อมกับสหายซึ่งเป็นพราหมณ์ด้วยกันชื่อโควินทะ ทั้งสองสหายหลังจากออกบวชแล้วก็ได้ปฎิบัติภาวนาหาทางหลุดพ้น สิทธารถะ เมื่อสองสหายพบสมณะโคดม โควินทะได้ตัดสินใจบวชเข้าในหมู่สมณะ เป็นภิกษุในพุทธศาสนา แต่สิทธารถะทูลลาพระพุทธองค์ออกจาริกแสวงหาสัจจธรรมต่อไป จนในที่สุดหวนคืนสู่เพศฆราวาส โดยข้ามแม่น้ำและสนทนากับชายแจวเรือชื่อวาสุเทพ ซึ่งใช้ชีวิตอยู่กับสายน้ำแบบเรียบง่าย มีวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ  เมื่อสิทธารถะ ข้ามฟากไปแล้วก็หวนคืนสู่เพศฆราวาส ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับนางงามเมืองชื่อกมลาและสุดท้ายก็ได้ไปร่วมหุ้นทำมาค้าขายกับพ่อค้าใหญ่ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง สุดท้ายก็หวนกลับคืนสู่การค้นหาสัจจธรรม โดยไปอยู่ร่วมกับวาสุเทพและทิ้งความมั่งมีไว้เบื้องหลัง วรรณกรรมเรื่องนี้ ชี้ให้เห็นถึงวิถีทางที่แตกต่างของ สองสหาย โควินทะบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศานาแสวงหาความหลุดพ้นแต่ยังไม่พัฒนาก้าวหน้าไปสู่ความหลุดพ้น ขณะที่สิทธารถะ หวนกลับไปสู่ชีวิตฆราวาสใช้ชีวิตเต็มเหนี่ยวในโลกียสุข แล้วตีกลับมาค้นหาสัจจธรรมโดยเรียนรู้จากวาสุเทพ ชายแจวเรือที่มีชีวิตเรียบง่ายสอดคล้องกับธรรมชาติ นิ่ง สงบ นี่กระมังที่เรียกว่าธรรมมะคือหน้าที่ การหยั่งรู้สัจจธรรมมิจำเป็นที่จะต้องหยั่งรู้โดยผ่านรูปแบบและวิธีการ อาจหยั่งรู้โดยการภาวนาผ่านชีวิตที่เรียบง่าย โควินทะผู้อุทิศยอมตนหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกับรูปแบบยังมิอาจพัฒนาไปถึงจุดแห่งการหยั่งรู้ สิทธารธะ เป็นวรรณกรรมที่มีอิทธิพลต่อ
ผู้ใส่ใจในสัจธรรม เป็นรูปแบบแห่งความหลุดพ้นรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่อิงกับรูปแบบแต่ใส่ใจในเนื้อหา

ผลพวงแห่งความคับแค้น(THE GRAPES OF WRATH )

ผลพวงแห่งความคับแค้น( THE GRAPESOF WRATH )  โดย จอห์น สไตน์เบค

ผลพวงแห่งความคับแค้นเป็นนวนิยายประท้วงสังคม รางวัลโนเบล   "มนุษย์มิได้เกิดมาเพื่อที่จะพ่ายแพ้การทำลายมนุษย์ย่อมทำลายกันได้ แต่จะทำให้มนุษย์พ่ายแพ้นั้นทำไม่ได้ "

 นวนิยายเรื่องนี้ เดินเรื่องให้ชายหนุ่มคนหนึ่ง กลับไปบ้านหลังจากไปติดคุกอยู่นาน เมื่อกลับไปบ้านพบว่าอะไรๆเปลี่ยนไปมากผู้คนอพยพ หนีภัยแล้งปลูกฝ้ายไม่ได้ผลมาหลายปี เหลือเพียงครอบครัวเขาซึ่งเป็นอยู่ด้วยความลำบาก แม้อยากจะยืนหยัดอยู่ ลำพังภัยแล้งก็หนักหนาสาหัส พออยู่แล้วแถมยังมีปัญหาหนี้สินที่ไปกู้ยืมมาจากธนาคาร เพิ่มเติมเข้าไปด้วย  แค่จะกินอยู่ เลี้ยงปากเลี้ยงท้องให้อิ่มก็แสนยาก หนี้สินไม่ต้องพูดถึงละ  วันหนึ่งมีแทรคเตอร์ ขับเข้ามาในไร่เพื่อปรับที่ดินและไถ บ้านเพื่อรื้อไล่ คนในครอบครัวโกรธแค้น จะเอาปืนมายิงคนขับรถแทรคเตอร์ ซึ่งเป็นคนที่ลำบากยากเข็ญ เช่นกันจนต้องไปรับจ้างขับรถ เพื่อทำมาหาเลี้ยงครอบครัว คนขับแทรคเตอร์ ถูกต่อว่าว่าเป็นพวกเดียวกันทำไมถึงต้องทำอย่างนี้  แล้วขู่ว่าจะยิงให้ตายถ้ามารื้อบ้าน คนขับแทรคเตอร์บอกว่า เขาเดือดร้อนต้องทำมาหากินเหมือนกัน ถ้ายิงเขาตาย ธนาคารก็ต้องจ้างคนขับคนใหม่มาอยู่ดี สุดท้ายก็เลยไล่หาตัวการว่าใครเป็นคนสั่งให้มารื้อบ้านและที่ทำกิน ผู้จัดการเรอะ ก็แค่ลูกน้อง ไล่เลียงไปถึงประธาน  กรรมการ จนกระทั่งผู้ถือหุ้น ก็หาจำเลยไม่ได้ ไม่รู้ว่าใครคือเจ้าของตัวจริงกันแน่ สุดท้ายเลยเลิกล้มความตั้งใจที่จะอยู่ต่อ
เก็บข้าวของที่จำเป็นและมีประโยชน์ ประเภทผ้าใบ เพื่อทำกระโจมสำหรับพักอาศัยระหว่างทาง และเครื่องครัวสำหรับปรุงอาหาร นำขึ้นรถกระบะเก่าๆเอาผ้าใบทำหลังคากันแดดกันฝนแล้วออกเดินทางหมายไปหางานทำทางใต้ ตามที่ได้รับใบปลิวชี้ชวนทำงานว่าค่าแรงดีและรับคนงานไม่อั้น รถกระบะบรรทุกครอบครัวซึ่งมีทั้งปู่ย่า พ่อแม่ลูกหลานก็อพยพ ไปตามความฝันระหว่างทางเจอขบวนผู้คนที่อพยพแบบพวกตนเต็มไปหมด บ้างก็เดินทางกลับก็มี พร้อมทั้งเล่าเรื่องราวว่าไม่เป็นความจริงหรอกที่มีงานการให้ทำ แต่ครอบครัวนี้มาไกลเกินกว่าจะถอยกลับจึงมุ่งหน้าต่อไป ทั้งๆที่หวั่นใจ ระหว่างการเดินทางก็ประสบปัญหาสารพัน และนิยายเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่ามีแต่คนจนด้วยกันเท่านั้นที่เห็นใจกันเอง
ปลอบประโลมให้กำลังใจ แบ่งปันแม้ในสิ่งทีตัวเองก็มีน้อยและขาดแคลน คนในครอบครัวระหว่างอพยพก็ค่อยๆล้มหายตายจากไปทีละคนๆ จนเหลือคนที่แข็งแรงเท่านั้น ระหว่างทางเจอการต่อต้านดูถูกเหยียดหยามจากเจ้าหน้าที่รัฐ และคนท้องถิ่นที่กลัวว่าพวกอพยพจะมาแย่งการทำมาหากิน สมญาทีพวกอพยพได้รับ คือ" อูก้า "ซึ่งเป็นคำเหยียดหยามหมิ่นแคลนพวกสิ้นไร้ไม้ตอก ครอบครัวอพยพต่อไปผจญเหตุการณ์ต่างๆเป็นระยะๆ สุดท้ายจนถึงไร่ส้มที่ต้องการแรงงาน ระหว่างที่จะเข้าไปทำงานมีขบวนประท้วง
ค่าแรงอยู่ตรงทางเข้าไร่ สุดท้ายเรื่องราวปะติดปะต่อกันได้ความว่าเนื่องจากแรงงานล้นเหลือด้วยมีผู้อพยพจำนวนมากนายทุนก็พยายามกดค่าแรงลงเหลือครึ่งหนึ่งจนคนงานไม่พอยังชีพจึงเกิดการประท้วงขึ้น นายทุนก็หาแรงงานชุดใหม่มาแทนโดยครั้งแรกให้ค่าแรงเท่ากับพวกที่ประท้วงแล้วค่อยๆลดลงไปเรื่อยๆจนอยู่ไม่ได้ ประท้วง แล้วก็รับใหม่ไปเรื่อยๆ สุดท้ายครอบครัวแรงงานนี้ก็อยู่ไม่ได้ต้องหาที่อยู่ใหม่เพราะทำไปก็ไม่พอกิน การเดินทางก็จะเป็นลักลษณะของพวกเก่ไปพวกใหม่มาขณะที่พวกมาใหม่เต็มไปด้วยความหวังแต่คนเก่าเต็มไปด้วยความหดหู่และสิ้นหวัง นิยายดำเนินเรื่องไปจนถึงตอนจบในความหดหู่สิ้นหวังและความยากไร้ก็ยังมีมนุษยธรรมซึ่ง จอห์น สไตน์เบคทิ้งทวนแบบมือชั้นครู เป็นการจบแบบติดตราตรึงใจ ใน"ผลพวงแห่งความคับแค้น" สมควรที่ผู้สนใจในวรรณกรรมจะได้อ่าน

วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2555

คนขี่เสือ (HE WHO RIDES A TIGER)

คนขี่เสือ โดย ภวานี ภัฏฏาจารย์(นักเขียนชาวอินเดีย)

คนขี่เสือ เป็นวรรณกรรมที่สะท้อนถึงเรื่องราวการกดขี่ในระบบวรรณะ ของอินเดียตัวเอกของเรื่องเป็นคนววรรณะศูทร ซึ่งจัดเป็นวรรณะต่ำ ชื่อกาโล เป็นช่างตีเหล็ก อยู่ในเมืองเล็กๆเมืองหนึ่ง ต่อมาเมียท้อง
ฝันถึงวันที่ลูกจะเกิดมา พราหมณ์ คนหนึ่งมาจ้างให้ปะหม้อ แล้วตั้งชื่อลูกในท้องให้ โดยบอกว่าถ้าเป็นชายให้ชื่อโอภิชิต ถ้าเป็นหญิงให้ชื่อจันทรเลขา  กาโลซึ่งปรกติมีนิสัยไม่ยอมเสียเปรียบคน ถึงกับยอมเปลี่ยนค่าแรงกับชื่อที่พราหมณ์ ตั้งให้ ต่อมาเมียคลอดลูกออกมาเป็นเด็กผู้หญิง ให้ชื่อจันทรเลขา ส่วนเมียก็ถึงแก่ความตาย กาโลรักลูกสาวคนนี้มากเป็นชีวิตจิตใจ เพราะเท่ากับทดแทนความรักที่มีต่อเมีย
กาโลขยันทำมาหากินเก็บหอมรอมริบ ส่วนจันทรเลขาก็ขยันเรียนจนสอบได้ทีหนึ่งและได้รางวัลเป็นเหรียญเงิน ซึ่งกาโลภูมิอกภูมิใจมาก ถึงขนาดฝันว่าจะให้ลูกสาวเรียนสูงๆ แต่ต่อมาเมืองที่กาโลอยู่ เกิดฝนแล้งข้าวยากหมากแพง หากินไม่ค่อยได้เหมือนก่อนผู้คนอพยพเข้าเมืองหลวง กาโลตัดสินใจเข้าไปดูลาดเลาในเมืองหลวงเพื่อหาช่องทางทำมาหากินโดยให้ลูกสาวอยู่กับน้า เขาฝันว่าจะเป็นเจ้าของโรงตีเหล็กในเมืองหลวงสักแห่งพร้อมกับมีที่เรียนให้ลูกสาว เพื่ออนาคตที่ดีกว่า เขาเตรียมข้าวตาก เป็นเสบียงไปกินระหว่างทาง ร่ำลากับลูกสาวด้วยความอาลัยอาวรณ์ แล้วเดินทางไปขึ้นรถไฟ เข้าเมืองหลวง แต่ผู้คนอพยพมากมายไม่มีตั๋วพอ บ้างก็ไม่มีเงินค่าโดยสาร อาศัยห้อยโหนตามราวบันไดบ้าง หลังคาบ้าง แต่ก็ถูกตำรวจ ตีด้วยกระบอง ฉุดกระชากลากลงมาจากรถไฟ กาโลก็ไม่ต่างจากคนอื่น ถูกกระทำจนถุงข้าวตากหล่นกระจาย   คนโซทั้งหลายก็กรูกันเข้ามาเก็บกินจนหมดสิ้น   กาโลต้องเดินไปสถานีหน้าไปเรื่อยจนสุดท้ายได้ขึ้นรถไฟ แต่ความหิวทำให้ขโมยกล้วย สามลูก ของผู้โดยสารในรถไฟทั้งๆที่ปกติไม่ชอบกล้วยสุดท้ายถูกจับ ถูกนำตัวไปขึ้นศาล ถูกสั่งจำคุก ไม่สามารถติดต่อทางบ้านได้เนื่องจากละอายหากลูกรู้ความจริงว่าตนติดคุกเพราะเป็นขโมย  ส่วนลูกสาวทางบ้านขาดการติดต่อจากพ่อก็อยู่ด้วยความอดอยากสุดท้ายต้องขายแม้กระทั่งเรียนเงินรางวัลจากการแข่งขัน กาโลติดคุกได้รู้จักกับนักโทษคนหนึ่งซึ่งเป็นคนกบฎจากวรรณะพราหมณ์ เนื่องจากน้องสาวต้องตายเพราะถูกบังคับให้แต่งงานกับคนในวรรณะเดียวกันทั้งที่มีคนรักอยู่แล้วแต่เป็นคนละวรรณะ นักโทษคนนี้มีชื่อในคุกว่า บ10
ส่วนกาโลได้ชื่อป14 บ10ถูกจับเพราะไปร่วมขบวนคนยากคนจนเรียกร้องให้พ้นจากแอกของอังกฤษเพื่อชีวิตที่ดีกว่า  บ10 ได้บอกกาโลถึงวิธีทำมาหากินในเมืองหลวง ตั้งแต่หากินกับซ่อง ไปจนถึงการเลื่อนสถานะเป็นพราหมณ์เพื่อตีโต้ตอบการกดขี่ของวรรณะพราหมณ์ สุดท้ายกาโล ได้รับการปลดปล่อยเข้าไปหากินในเมืองหลวง โดยการเป็นลูกมือขนศพคนโซที่อดตายอยู่ทุกวี่ทุกวัน ต่อมาถูกกดค่าแรงเพราะมีคนอื่นทำแทนในราคาที่ถูกกว่าสุดท้ายก็ต้องไปเป็นคนเชียร์แขกในซ่องทั้งๆที่ฝืนต่อมโนธรรม กาโลส่งเงินไปให้ลูกสาว แต่ไม่บอกความจริงที่ตนติดคุกเพราะขโมยกล้วยสามลูก  ลูกสาวได้รับจดหมายจากพ่อก็ดีใจ เนื่องจากจันทรเลขาหน้าตาดี แม่เล้าก็เลยสร้างกลอุบายบอกว่าพ่อถูกรถชนนอนอยู่โรงพยาบาลคร่ำครวญถึงแต่ลูก จึงมารับเพื่อไปพบกับพ่อ สุดท้ายถูกหลอกเข้าซ่องถุฏเฆี่ยนบังคับให้รับแขกเศรษฐี
แต่จันทรเลขา ร้องไห้จนอาเจียนกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง แขก หมดอารมณ์ แม่เล้าไม่พอใจ เฆี่ยนตี พอดีกาโลสงสัยและสังหรณ์ใจ จึงได้เข้าไปช่วยทันเวลา พาลูกสาวหนีออกจากซ่องได้ ตกงานไม่รู้จะทำอะไร
นึกถึงเรื่องที่ บ10 บอกถึงการตีโต้การกดขี่ด้วยการทำตัวเป็นพราหมณ์ พร้อมทั้งใช้กลอุบาย ขุดหลุมเอาเมล็ดถั่วฝังดินเอากระป๋องวางบนถั่วแล้วเอาเทวรูปเล็กๆวางบนกระป๋องอีกทีหนึ่งกลบดินหลวมๆเอาน้ำรดเพื่อให้ถั่วงอกขึ้นมาดันกระปํองทำให้เทวรูปผุดขึ้นมาเหนือดินเป็นที่อัศจรรย์ของผู้คนให้เลื่อมใสศรัทธา บริจาคเงิน สิ่งของ สร้างความร่ำรวย แต่ก่อนจะดำเนินกรรมวิธีก็เแต่งตัวเป็นพราหมณ์แล้วเล่าความฝันถึงการผุดขึ้นของเทวรูปให้ผู้คนได้รับรู้ สุดท้ายตรงที่เทวรูปผุดขึ้นกลายเป็นเทวาลัย สวยงามใหญ่โตโดยฝีมือเศรษฐี ทีหวังเอาความศรัทธามาฟอกบาป สร้างภาพตัวเองให้คนอื่ีนชื่นชม หัวเรี่ยวหัวแรงชื่อโมติจันทร์ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหารวิหาร จ้างพราหมณ์ผู้ชำนาญมาทำพิธีกรรม ส่วนกาโลก็เปลี่ยนชื่อเป็น มงคล อธิการี เป็นอธิการในฐานะที่เป็นต้นเรื่องที่เทพเจ้ามาเข้าฝัน กาโล กลายเป็นพราหมณ์มีพิธีกรรม ผูกตนติดกับเทวาลัยเหมือนขึ้นขี่เสือ ไม่สามารถเป็นกาโลช่างตีเหล็กที่ตนภูมิใจในฝีมือได้ ต้องปืดบังหลบๆซ่อนๆตัวตนที่แท้จริงไว้แล้วสวมบทบาทลีลาของนักแสดงแทน บางหนแอบไปตีเหล็กจนควันขโมงบนชั้นบนของเทวาลัย ตามหัวใจเรียกร้อง จนเกือบความลับแตกจนต้องเลิกไปในที่สุด
กาโลรับคนสวนซึ่งเป็นคนชนชั้นเดียวกับตน มีสำนึกทางชนชั้นที่ตนสังกัดอยู่ เห็นใจคนยากคนจน
เอานมที่ทำพิธีสรงเทวรูปซึ่งตามปกติต้องนำไปเทลงแม่น้ำคงคาตามความเชื่อว่าจะได้บุญสูง น้ำนมนี้มาจากการบริจาค เมื่อผู้บริจาครู้ความจริงก็ไม่พอใจ รวมทั้งหนก่อนๆก็ไม่พอใจเรื่องเอาของถวายไปแจกคนยากคนจน แต่กาโลก็หลุดรอดมาด้วยการแก้ต่างของโมติจันทร์ซึ่งหวังจะได้จันทรเลขาเป็นเมียอีกคนหลังจากที่มีมาแล้วหลายคนแล้วสร้างเหตุผลที่จะมีเมียใหม่ ครั้งสุดท้ายถึงขนาดยอมเสียเงินร้อยรูปีจ้างโยคีมาสร้างเรื่องจนเมียคนสุดท้ายอ้อนวอนให้หาเมียใหม่ แน่ะ เรื่องราวดำเนินเรื่อยมาจน บี10ออกจากคุก กาโลก็ไปรับรื้อฟื้นความหลังเล่าความเป็นมาเป็นไป บี10 สนิทกับจันทรเลขา จนกาโลคิดจะให้แต่งงานกับลูกสาว แต่มีข้อแม้ว่าต้องยกระดับเป็นพราหมณ์(ที่จริง บี10 เป็นวรรณะพราหมณ์ แต่บอกกับกาโลทุกครั้งที่ถูกถามถึงวรรณะ ว่าเป็น วรรณะคนขี้คุก)กาโลเตือนลูกสาวไม่ให้สนิทสนมกับบี10
เพราะเป็นคนละวรรณะ (เรื่องมันเสียดเย้ย ถึงความลวงแห่งสถานะเพราะมันกลับหัวกลับหางกัน)แต่จันทรเลขาไม่เชื่อเนื่องจากศรัทธาในบี10 จนกระทั่งเข้าไปดูขบวนการต่อสู้ของประชาชนที่มักเรียกร้อง อาหาร และเอกราช อยู่เนืองๆ  วันหนึ่ง บี10ให้จันทรเลขาเล่าเรื่องปมในใจ พอนึกถึงเรื่องราวที่ถูกบังคับขู่เข็ญในซ่องจันทรเลขาตื่นตระหนก บี10 เข้าไปกอดปลอบประโลม จันทรเลขาตกใจลืมตัวทำร้ายบี10
แล้วในทีสุด บี10 ก็หายตัวไป เมื่อจันทรเลขารู้สึกตัวก็เสียใจในสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างตัวเธอกับบี10 เฝ้าโหยหาถึงแตบี10 ชะโงกมองหาจากเทวาลัยทุกครั้งที่มีขบวนผ่าน จันทรเลชาจมอยู่ในความโศกเศร้า จนวันหนึ่งได้เจอเด็กคนหนึ่งที่หากินตามถังขยะ ไม่มีพ่อไม่มีแม่เนื่องจากถูกทางการจับไป จันทรเลขาเฝ้าดูแลเด็กน้อยด้วยความรักและเป็นเครื่องปลอบประโลมใจ และกาโลเองก็ได้รับผลพวงนี้ด้วยที่ได้สานต่อฝัน
ถึงลูกชายที่หวังไว้ว่าจะมี "โอพิชิต"    เรื่องราวดำเนินมาให้มีการหมิ่นเหม่ต่อการถูกเปิดโปงสถานะที่แท้จริงแห่งวรรณะ แต่ก็ถูกแก้ไขด้วยโมติจันทร์ที่หวังจะได้จันทรเลขาเป็นเมีย ตอนแรกกาโลทำทุกอย่างเพื่อคงความเป็นพราหมณ์ไว้แม้ แต่จันทรเลขาจะต้องแต่งกับพราหมณ์ก็ตาม จันทรเลขาเองก็อยากลงจากหลังสือโดยการย่อมแต่งกับโมติจันทร์ แล้วจะเป็นอิสระเพื่อให้พ่อได้อยู่กับเทวาลัยต่อไป
วันที่มีการทำพิธี เลื่อนสถานะจันทรเลขาเป็นเจ้าแม่ตามความเชื่อโดยการสนับสนุนและเป็นตัวตั้งตัวตีของโมติจันทร์ กาโลเข้าใจความคิดของจันทรเลขา จึงตัดสินใจฆ่าเสือตัวที่ขี่อยู่ ด้วยการเปิดหน้ากากชองตัวเองแถลงถึงวรรณะที่แท้จริงและเสียดเย้ยหยามหยันพวกวรรณะชั้นสูงว่าถูกพลังทลายด้วยฝีมือ กาโล แห่งวรรณะศูทร วันนั้น บี10 ก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย  และเห็นด้วยกับชัยชนะที่กาโลตีตอบโต้วรรณะชั้นสูงแต่กาโลคิดในใจว่าเป็นชัยชนะของบี10 แล้วเดินออกจากวิหารไปพร้อมกับลูกสาว

คนขี่เสือเป็นวรรณกรรมเสียดเย้ย จริยธรรม มโนธรรม ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อแบ่งแยกมนุษย์แล้วทำลาย กลั่นแกล้งเอารัดเอาเปรียบกันอย่างน่ารังเกียจ  เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่น่าอ่านทีเดียว