วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555

  นวนิยายเรื่อง  "คนโซ" (HUNGER)  โดย คนุท แฮมซุน นักเขียนรางวัลโนเบลปี 1920
  มายา (แดนอรัญ แสงทอง) แปล สำนักพิมพ์วลี

คนโซ เป็นนวนิยาย ที่ล้อเล่นกับการเดินทางด้านในของมนุษย์ โดยใช้ ความหิวและความอดเป็นตัวเดินเรื่อง โดยให้ตัวเอกของเรื่องที่ยังชีพอยู่ด้วยการเขียน เป็นหลัก และ ใช้การจำนำกับการติดค้างความช่วยเหลือจากผู้อื่น เป็นตัวปะทังชีวิตมิให้ถึงกับล้มตายลงไป เป็นตัวขัดแย้งเป็นตัวดำเนินเรื่อง
 เรื่องราวของตัวเอกที่ผจญกับความหิวโหย อยู่ตลอดทั้งเรื่อง แต่ก็ยังยึดถือมโนธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นคนจนผู้ยิ่งใหญ่ การเล่นอยู่ในคลองความคิดของผู้เขียน สลับกลับไปกลับมา ระหว่างความจริงโดยสภาพ กับมโนสำนึก บางทีก็สะท้อนให้เห็นตัวตนที่แท้จริงของคนธรรมดา เมื่อจนมุมก็จะแสดง
ความตรงไปตรงมาของภาวะจิตใจ ชนิดที่ยอมลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ลงมาเหมือนกับสัตว์ที่มีชีวิตตัวหนึ่ง  เรื่องราวตลอดทั้งเรื่องเป็นเหมือนอาการครึ่งหลับครึ่งตื่น ความฝันกับการตื่น มโนสำนึกกับสภาพความเป็นจริง สติปัญญากับกิเลส ซึ่งสลับขั้วสลับข้างกันเล่นอยู่ตลอดเวลา อันเป็นธรรมดาของมนุษย์ปุถุชน "คนโซ" ปาฏิหาริย์แห่งการอดอยู่เสมอ น่าสนใจและขอสรุปด้วยคำของสำนักพิมพ์ที่ว่า
  "เราขอท้าทายคุณด้วยหนังสือเล่มนี้"ฯ

วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เรื่องของกำลังใจไม่ใช่จักรยาน

เรื่องของกำลังใจไม่ใช่จักรยาน โดยแลนซ์ อาร์มสตรอง และแซลลี เจนกินส์ เกริกฤทธิ์ นานา แปล

หนังสือเรื่องของกำลังใจไม่ใช่จักรยาน เป็นเรื่องของอัตตชีวประวัติของแชมป์จักรยานมาราธอน นามว่า แลนซ์ อาร์มสตรอง เขาเกิดมาในครอบครัวที่แม่อายุเพียงสิบเจ็ดปี และพ่อเลิกราจากแม่ตั้งแต่เขายังไม่ทันลืมตาดูโลก แม่แต่งงานใหม่ และเขาใช้นามสกุล อาร์มสตรองโดยเขาได้รับการรับรองการเป็นบุตรบุญธรรมจากพ่อเลี้ยงและให้ใช้นามสกุล เขาเล่าว่าเขาไม่ได้ผูกพันกับพ่อเลี้ยงและรังเกียจการลงโทษของพ่อเลี้ยง
สุดท้ายชีวิตของเขากับพ่อเลี้ยงก็แยกจากกันโดยไม่มีความผูกพันเพราะพ่อเลี้ยงเลิกรากับแม่ แม้แม่จะสมรสใหม่อีกครั้งก้ล้มเหลวกับชีวิตคู่ เขาจึงมีชีวิตร่วมกับแม่ โดยที่แม่รักเขาและให้กำลังใจเขามาโดยตลอด ความขาดแคลนทางเศรษฐกิจ และสังคมที่เขาอยู่ในวัยเด็กทำให้เขาหันมาเอาดีทางขี่จักรยาน
โดยมีร้านจักรยานในเมืองที่เขาอยู่เป็นผู้สนับสนุน ความแข่งแกร่งของร่างกาย และความมุ่งมั่นที่เต็มไปด้วยอัตตาของเขาสอนบทเรียนให้ได้รับรสของชัยชนะบ้างความพ่ายแพ้บ้าง ยามใดที่เขาได้รับชัยชนะก็ลิงโลดแต่เมื่อพบกับความพ่ายแพ้ก็ท้อแท้หดหู่แต่เขายังคงมุ่งมั่นกับการขี่จักรยานเพื่อการแข่งขันต่อไป
และได้รับบทเรียนในการแข่งขัน มีประสบการณ์และเทคนิคในการเข้าเส้นชัยมากขึ้นเรื่อยๆและได้เรียนรู้ กติกามารยาทในการแข่งขัน การได้รับประสบการณ์ตรงสอนบทเรียนให้เขามากมาย อัตตาเหมือนเชื้อเพลิงที่ขับดันให้เขาพุ่งเข้าหาชัยชนะ ด้วยความทรหดอดทน การฝึกซ้อมในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความกดดัน ทั้งสภาพถนน ดินฟ้าอากาศและผู้คน สุดท้ายอัตตาซึ่งเป็นพลังขับดันให้เขาพุ่งเข้าสู่เส้นชัยซึ่งนำพาชื่งเสียงและรายได้จากสปอนเซอร์ต่างๆมาให้กับเขาก็นำพาแรงขับชนิดติดจรวดเทอร์โบมาให้กับเขาด้วยนั่นคือเขาไดัรับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งอัณฑะ และต่อมาก็ลุกลามไปสู่ปอด แต่ด้วยแรงใจจากแม่และคนรักรวมทั้งเพื่อนพ้องในวงการจักรยานที่ช่วยสนับสนุนและดูแลเขาเป็นอย่างดี ทำให้เขาค้นคว้าหาความรู้เรื่องมะเร็ง วิธีการรักษาและผู้เชี่ยวชาญในการรักษาและจากข้อมูลที่เขามีทำให้เขาเป็นผู้ตัดสินชตากรรมของตนเองโดยเลือกวิธีการรักษษและเลือกหมอเอง เขาใช้เวลาในการรักษาและวิธีเคมีบำบัดอยู่นานเป็นปีโดยได้รับกำลังใจจากแม่เป็นหลักและมีเพื่อนพ้อง หมอ พยาบาลคอยให้การช่วยเหลือสนับสนุน ยามชีวิตตกต่ำป่วยเป็นมะเร็งสุขภาพย่ำแย่ รายได้ที่มาจากสปอนเซอร์หดหาย ประกันสุขภาพไม่ได้รับการคุ้มครอง
ต้องขายรถ และทรัพย์สินที่พอจะเปลี่ยนมาเป็นเงินค่ารักษาถูกทะยอยขายไป เพื่อมาเป็นค่ารักษาจากความรู้เกี่ยวกับมะเร็งและกำลังใจทำให้เขาฝ่าฟันมาได้และสำคัญการวางแผนทำให้เขาเก็บสเปิร์มไว้ในธนาคารอสุจิเพื่ออนาคตสำหรับการมีลูก เขาเรียนรู้การวางแผน การตัดสินใจและควบคุมความปรารถนาอย่างแรงกล้า จากโรคที่เป็น เปลี่ยนนิสัยที่เอาแต่ใจตนเองเป็นใหญ่มารับรู้ปัญหาของคนอื่นรวมทั้งการให้กำลังใจคนอื่น แลเห็นความเอื้ออาทรที่คนอื่นมีต่อตนและไม่สิ้นหวังกำลังใจในการเอาชนะอุปสรรค
สุดท้ายเขาก็หายจากโรคมะเร็งในที่สุดและกลับมาแข่งจักรยานในยุโรปนัดสำคัญๆ ตั้งมูลนิธิเพื่อหาเงินช่วยผู้ป่วยโรคมะเร็ง ในการแข่งขันเขาบอกผู้อ่านถึงกติกามารยาท การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การทำงานเป็นทีม การยอมแพ้ในประเด็นปลีกย่อย เพื่อที่จะชนะในประเด็นหลัก การสร้างมิตรดีกว่าการสร้างศัตรู
เขาชนะในรายการทีสุดยอดของความทรหด แต่งงานกับผู้หญิงที่เขารักและรักเขามีลูกชายที่เกิดจากอสุจิที่เขาเก็บไว้ในธนาคาร ทุกชัยชนะและความพ่ายแพ้มีผู้หญิงสองคนคอยให้กำลังใจเขาอยู่เสมอมาคือแม่ และมี ดังคำกล่าวทีว่้าเบื้องหลังความสำเร็จของผู็ชายมีผู้หญิงอยู่เบื้องหลังเสมอ
เรื่องกำลังใจไม่ใช่จักรยาน เป็นหนังสือที่ปลอบประโลมใจในยามที่ท้อแท้ ประสบอุปสรรคในชีวิต ได้สอนบทเรียนในการเป็นผู้ให้และเข้าใจในโลกธรรมแปด คือมีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ ชนิดที่ชีวิตหนึ่งจะเป็นอุปกรณ์สอนธรรมได้อย่างดีทีเดียว

วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555

โลกใบเล็กของหลวงพ่อ ดอน คามิลโล โดย โจวานนี กวาเรสกิ(แปลและเรียบเรียงโดย นพดล เวชสวัสดิ์ )

โลกใบเล็กของหลวงพ่อ ดอน คามิลโล เป็นเรื่อง ของความยึดมั่นในอุดมการณ์ สองฝั่ง ระหว่างหลวงพ่อดอนคามิลโลซึ่งศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า กับ นายกเทศมนตรีคอมมิวนิสต์ยูเซ็ปเปเป็ปโปเน่ เรื่องราวความขัดแย้งของบุคคลทั้งสองเกิดขึ้นในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในอิตาลี หลวงพ่อดอนคามิลโลมีพระผู้เป็นเจ้าเป็นที่ปรึกษา ขณะที่นายกเทศมนตรีมีสตาลินหนุนหลัง เรื่องราวที่ผู้เขียนนำเสนอผ่านคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย โดยมีหางเครื่องของแต่ละฝ่ายออกมาโลดแล่นบนเวที มีทั้งความเคียดแค้นชิงชัง ความรักความห่วงใย เสียดสีเยาะเย้ย ประเภทปากว่าตาขยิบ ไม่ว่าอุดมการณ์จะต่างกันอย่างไร ความเป็นเพื่อนเป็นญาติก็ไม่อาจตัดขาดจากกันจึงทำให้ตัวละครของทั้งสองฝ่ายสร้างความหฤหรรษ์ ให้กับท่านผู้อ่านได้อมยิ้มในความเปิ่นเชย จนถึงกับฮาแตกในบางมุขของเรื่องราวนำเสนอนี่สะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้จะขัดแย้งในเรื่องอุดมการณ์ใดๆแต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือเป้าหมายของอุดมการณ์นั้นมิได้แตกต่างกันเพียงแต่วิธีการนั้นต่างกัน แต่ความแตกต่างในอุดมการณ์ไม่ควรจะนำพาหางเครื่องของแต่ละฝ่ายต้องเป็นศัตรูกัน เข่นฆ่า กันจนถึงเลือดตกยางออก โลกใบเล็ก ของหลวงพ่อ ดอน คามิลโลมีส่วนละม้ายคล้ายคลึงกับเรื่อง ไผ่แดงของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชโดยที่ท่านผู้แปลเรื่องนี้บอกว่าเหมือนยังกับแพะกับแกะ(เพราะเป็นคนละสปีซีส์กัน ) และยังบอกด้วยว่าจะไม่มีใครเขียนเรื่องความขัดแย้งระหว่างลัทธิการเมืองและศรัทธาในศาสนาได้งดงามเท่าไผ่แดงของอาจารย์คึกฤทธิ์และโลกใบเล็กของหลวงพ่อดอน คามิลโล ของท่าน โจวานนี กวาเรสกีได้อีกแล้วในโลกใบนี้ ลองหาอ่นเปรียบเทียบดูระหว่าง รสไทยๆกะปิปลาร้า กับรสนมเนยสปาเก็ตตี้ อันไหนจะแซ่บกว่ากัน

วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

The DRAGON'SPEARL-มุกมังกร โดย สิรินทร์ พัธโนทัย

มุกมังกร (THE DRAGON'S PEARL )  เป็นเรื่องราวเบื้องหลังของความสัมพันธ์ ไทย-จีน ที่นับเนื่องจากปลายสมัยของรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ผ่านเรื่องราวของสองพี่น้องชายหญิง วรรณไว และสิรินทร์ พัธโนทัย โดยทั้งสองในวัย แปดขวบและสิบสามขวบ บิดาคือ สังข์ พัธโนทัย คนสนิทของจอมพลคนหัวปี ถูกส่งไปอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน เพื่อเป็นหลักประกันในนโยบายสานสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน โดยมอบคนทั้งสองให้อยู่ในความดูแลของ โจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นของจีน  วัฒนธรรมประเพณีที่ต่างกัน รวมทั้ง ภูมิอากาศ ก็ต่างกัน ในขณะที่อายุยังน้อยมากแต่ต้องแบกภาระสานฝันของพ่อ ที่เล็งการณ์ไกลถึงสายสัมพันธ์และอนาคตของประเทศไทย-จีน ในขณะที่สงครามเย็นและการปิดล้อมจีนยังเป็นนโยบายหลักของอเมริกา ประเทศไทยในฐานะมิตรผู้ซื่อสัตย์ซึ่งเป็นประเทศเล็กกว่าต้องดำเนินนโยบาย ตามก้นอเมริกา ทั้งๆที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ที่ไม่เห็นด้วยก็ใช้นโยบายตีสองหน้า ที่เห็นด้วยก็ทุ่มตัวสุดจิตสุดใจเป็นสมุนรับใช้ผู้ซื่อสัตย์และได้รับเศษกระดูกตอบแทนเป็นอำนาจ ที่มีหลักประกัน แต่ถ้าวันใดส่งกระแสแปรพักตร์ก็จะถูกโค่นล้มในเร็ววัน ในอดีตอเมริกันก็คือตัวแสบที่คอยโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่ามาจากการเลือกตั้ง และสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหาร เพิ่งจะไม่กี่ปีมานี่เองที่ทำตัวเป็นตำรวจโลกอ้างความเป็นประชาธิปไตยเที่ยวแทรกแซงประเทศอื่นๆในข้อหาไม่เป็นประชาธิปไตย เรื่องราวของ วรรณไว และสิรินทร์ เป็นบันทึกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ ระหว่างความสัมพันธ์ไทย-จีนที่ก่อตัวมายาวนาน จนมาสัมฤทธิ์ผลในสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธฺ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี หลังยุค 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งประชาชนได้ลุกขึ้นต่อต้านจักรวรรดิ์อเมริกา และนโยบายของอเมริกาเริ่มเปลี่ยนหลังจากพ่ายแพ้สงครามเวียดนาม รวมทั้งถูกกดดันจากรัฐสภาในเรื่องงบประมาณ และพลังการต่อต้านของขบวนการประชาชนชาวอเมริกันเอง ที่ไม่ต้องการไปรบเวียดนามรวมทั้งพ่อแม่ที่ไม่ต้องการให้ลูกชายของพวกเขาไปตายในเวียดนาม รวมทั้งดารา นักร้อง ศิลปิน คนดังในวงการต่าง และทีขาดไม่ได้คือขบวนบุปผาชน หรือฮิปป๊้ ที่มีม็อตโต้ อันลือลั่นว่า SEX NOT WAR  บันทึกนี้ทำให้รู้ตื้นลึกหนาบางของความสัมพันธ์ของบุคคลที่มีอำนาจทั้งในรัฐบาลไทย และจีน ซึ่งเป็นระดับความสัมพันธ์ที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ได้รู้เห็นพฤติกรรมของมนุษย์ไม่ว่าสังคมไหน ไทยหรือจีน ที่ตีสองหน้าเพื่อความอยู่รอดและเป็น โดยสันดาน ภาพสะท้อนให้เห็นถึงความชั่วร้ายของอำนาจที่มาจากการเมือง ที่ว่าไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร  ภาพเหตุการณ์ความยุุ่งเหยิงในจีนช่วงปฎิวัติวัฒนธรรม รวมถึงผลกระทบที่ผู้เขียนได้ประสบพร้อมครอบครัว การพลัดพรากการต้องไปอยู่ในจีนตั้งแต่เล็ก ไม่ว่าจะเป็นโดยเหตุผลที่เป็นการเชื่อมสัมพันธ์ ไทย-จีน ตามกล่าวอ้างหรือไม่ แต่คุณูปการณ์ของสองพี่น้องก็ได้สร้างสะพานสานสัมพันธ์ ไทย-จีน จนได้ในที่สุด ก็ได้ปรากฎเป็นรูปธรรมประจักษ์แก่สายตาคนไทย บันทึกนี้ยังทำให้ผู้อ่านได้รับรู้เบื้องลึกเบื้องหลังของผู้มีอำนาจ และการสูญเสียอำนาจ
เหมือนบทกวีที่ว่า ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า  ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ  ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป และสัจจธรรมก็ได้พิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่าว่าเบื้องหลังอำนาจคืออาชญากรรม และท้ายสุดไม่ว่าจะยิ่งใหญ่ขนาดไหนก็หนีไม่พ้นกฎไตรลักษณ์ ที่ว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และที่สุดก็ดับไป ไม่ว่าจะเป็นอะไรยศตำแหน่งใหญ่สักเพียงไหน  ขอเป็นเพียง" เป็นมนุษย์ก่อนเป็นอื่น" (จากวาทะของ เดวิด เธอโร )  ก็พอ    

วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่ โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

 ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่ โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเรื่องที่เขียนลงในคอลัมน์ "ซอยสวนพลู" ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ตั้งแต่วันเสาร์ที่ ที 20 สิงหาคม 2531ถึง วันเสาร์ที่ 5พฤศจิกายน 2532  ซึ่งผู้เขียนกล่าวไว้ว่า " เป็นความพยายามที่จะนำเอาสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในเรื่องขุนช้างขุนแผน อันเปรียบเสมือนขุมทรัพย์อันใหญ่นั้นออกมาให้ดู และชี้แจงว่าอะไรเป็นอะไร และมีความสำคัญอย่างไร"
 ท่านผู้เขียน ได้ปรารภในบทแรกว่า มีท่านผู้รู้บางท่านได้แสดงความเห็นว่าหนังสือเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นหนังสือไร้ศีลธรรมและเป็นตัวอย่างไม่ดีควรเผาทิ้งเสีย(คำว่าเผาทิ้ง นี้เป็นกระแสหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กระแสประชาธิปไตยเบิกบาน ได้ต้นเค้ามาจากปฎิวัติวัฒนธรรมในเมืองจีน ที่ปฎิเสธ
วัฒนธรรมศักดินาล้าหลัง และขัดขวางกระบวน การประชาธิปไตย-คำว่าเผานั้นบางกระแสบอกว่าเป็นเพียงไม่ให้เกียรติ ยกย่องเชิดชู วัฒนธรรมประเพณี ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ ประชาชน รวมทั้ง การไม่ยกย่องในสิ่งที่เป็นความชั่วความเลว เช่นการกดขี่ทางเพศ   เยี่ยงที่พระเอกปฏิบัติ จนเป็นที่มาของสำนวนที่ว่า "อํญเชิญความชั่วขึ้นพานทอง" มิได้หมายถึงการเผาจริงๆ)
 สิ่งที่ท่านผู้เขียน มอง  กับกระแส สังคมในสมัยนั้น ก็นับว่ามีเหตุผลด้วยกันทั้งสองฝ่ายแต่ต่างกันตรงจุดยืน ท่านผุ้เขียน ทบทวนเรื่องขุนช้างขุนแผนในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม  การเมืองการปกครอง ประเพณี ในสายตาที่จะชี้ให้เห็นว่ามีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไร ไม่ว่าจะชอบหรือชังก็เป็นรากเหง้าที่มาของสังคมไทย ที่สะท้อนภาพตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายมาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นคือถึงสมัยรัชกาลที่สี่ (ถ้าจะศึกษาต่อต้องอ่าน สี่แผ่นดินซึ่งเป็นเรื่องราวตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้าเป็นต้นมา) ขุนช้างขุนแผน เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นดังที่กล่าว ท่านบอกว่าขุนช้างขุนแผนเป็นเสภา ที่เกิดจากคนคุกยกย่องคนคุก เป็นความบันเทิงของคนคุก ฉะนั้นพระเอกของเรื่องจึงเป็นคนคุกและการเก็บเรื่องราวรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราวภายในคุกจึงทำได้ชนิดมองเห็นภาพ การบันทึกเรื่องราวของขุนช้างขุนแผนเป็นไปในรูปมุขปาฐะ คือจำต่อๆกันมาโดยการขับเสภา เบื้องต้นท่านวิเคราะห์ว่าดนตรีที่ใช้คือเสียงโซ่ตรวนของคนคุกและพัฒนาต่อมาจนเป็นกรับ เป็นดนตรีไทย รับกันต่อๆมา ท่านผู้เขียนได้วิเคราะห์ ถึงที่มาที่ไปให้เกร็ดความรู้ในเรื่องศัพท์แสงที่อยู่ในวรรณคดีเรื่องนี้ เช่นคำว่าทิม มาจากคำว่าทรึมของเขมร และมีคำศัพท์อื่นๆอีกหลายเรื่องหลายราว รวมทั้งภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ที่ปรากฎอยู่ในวรรณคดีเรื่องนี้ ทำให้คนรุ่นหลังเข้าใจเรื่องราวมากขึ้น เจตนาของผู้เขียนก็เพื่อให้ท่านผู้อ่านซึ่งเป็นคนรุ่นหลังเข้าใจที่มาที่ไปของวรรณคดีเรื่องนี้และได้รับรสแห่งวรรณคดีไปด้วย และที่สำคัญท่านผู้เขียนต้องการให้อ่านฉบับเดิมซึ่งท่านชี้ให้เห็นว่ามีอะไรดีๆอยู่ในนั้น มากมาย โดยรวม วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนท่านผู้เขียนมองเห็นคุณค่าและชี้ให้เห็นถึงความอ่อนด้อย โง่เขลาเบาปัญญา และความเป็นมาของการเมืองการปกครองไทย
รวมถึงประเพณีกินสินบาทคาดสินบนในสังคมไทย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับราชการ และทีขาดไม่ได้คือเกี่ยวกับคนคุก ท่านชี้ให้เห็นว่า วรรณคดีขุนช้างขุนแผน หลายคนแต่งจดจำขับขาน จดจาร ต่อเนื่องกันมา จนแตกปลายหมุนวนปะติดปะต่อ จนเป็นวรรณคดีอย่างที่เราท่านได้เคยอ่านกันอยู่บ้าง ส่วนมุมมองที่มาจากจุดยืนของแต่ละท่านจะตีความเห็นด้วยไม่เห็นด้วยชอบหรือชังก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละท่านแต่สิ่งหนึ่งที่เราท่านไม่อาจปฎิเสธ ได้ก็คือรากเหง้าที่ดำรงอยู่จริงและบางเรื่องก็ยังดำรงอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน เห็นควรหันกลับไปอ่านขุนช้างขุนแผนอีกครั้งหลังจากได้ข้อมูลของท่านผู้เขียนขุนข้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่ กันอีกสักทีดีไหมเหมือนกับการหันกลับไปส่องกระจกเงาดูหน้่้าตาตัวเอง ดังคำกล่าวที่ว่า" ดูสังคมจากวรรณคดี ดูวรรณคดีจากสังคม" ไงครับท่าน

วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

พระบาลี มหาสติปัฎฐานสูตร

ถ้าสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เปรียบเหมือนใบไม้ทั้งป่า แต่สิ่งที่ท่านนำมาสอนเท่ากับใบไม้กำมือเดียว คือท่านสอนเรื่องทุกข์กับดับทุกข์ ทุกข์ในที่นี้คือ ทุกข์อุปาทาน(ตัวกู-ของกู) ซึ่งเป็นทุกข์ทางใจ ส่วนทุกข์ทางกายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เช่นปวดหัวตัวร้อนก็ต้องไปหาหมอรักษา เป้าหมายของชาวพุทธ คือ ทำ พระนิพพานให้แจ้ง ถ้านิพพานหมายถึงความดับเย็น แห่งจิต ทำอย่างไรเล่าจึงจะไปถึง
"ภิกษุ ทั้งหลาย หนทางนี้ เป็นหนทางไปทางเดียว เพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย -เพื่อการก้าวล่วงเสียซึ่งความโศกและความร่ำไรรำพัน-เพื่อความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งทุกข์และโทมนัส -เพื่อบรรลุธรรมอันสัตว์พึงรู้-เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง หนทางนี้คือ สติปัฏฐานสี่ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าทฤษฎี หรือปริยัติที่ว่าด้วยการดับทุกข์
      โครงสร้างแห่งมหาสติปัฎฐาน
 เพื่อกำหนดเนื้อความได้ชัดเจนแม่นยำ ควรทราบโครงของบาลีนี้เสียก่อนอย่างกว้างๆ ท่านแบ่งเป็นสี่หัวข้อใหญ่ แล้วแบ่งย่อยออกได้ดังนี้คือ
 1 กายานุปัสสนาสติปัฎฐาน  พิจารณาโดยวิธีต่างๆคือ
              1 อานาปาน  รู้กายคือลมหายใจ    มี 4 อย่าง
               2  อิริยาบท รู้กายคืออิริยาบท      มี4 อย่าง
                3  สัมปชัญญะ  รู้กายคือการเคลื่อนไหว   มี  7 อย่าง
               4 ปฎิกูล   รู้ของไม่สะอาดในกาย มี 31  อย่าง
               5  ธาตุ     รู้กายประกอบด้วยธาตุ มี 4 อย่าง
               6  นวสีวถิกา  รู้กายเปรียบด้วยซากศพ  มี  9 อย่าง

2 เวทนานุปัสสนาสตืปัฎฐาน      พิจารณาเวทนาทั้งสามโดยอาการต่างๆ มีสุข มีทุกข์  มีเจืออามิส หรือไม่มีเจืออามิสเป็นต้น    มี 9 อย่าง

3   จิตตานุปัสสนาสติปัฎฐาน    พิจารณาจิตที่มีภาวะต่างๆกันมีเจือด้วย กิเลสหรือไม่ เป็นต้น มี 16 อย่าง

4  ธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน  พิจารณาธรรมทั้งหลายเป็นข้อๆคือ
                   1   ว่าด้วยนิวรณ์    มี  5  อย่าง
                    2  ว่าด้วยอุปาทานขันธ์  มี  5 อย่าง
                    3   ว่าด้วยอายตนะภายในภายนอก   มี  6  อย่าง
                    4   ว่าด้วยโพชฌงค์    มี   7  อย่าง
                     5  ว่าด้วย อริยสัจ      มี 4  อย่าง คือ  
                     ก.  ทุกข์ 12  ชนิด
                     
                      ข.   สมุหทัย  10  หมวด

                       ค.  นิโรธ  10 หมวด

                       ง. มรรคมีองค์ 8   องค์
 เมื่อได้ทฤษฎี หรือปริยัติแล้ว สิ่งที่จะต้องทำต่อไปก็คือการปฎิบัติ อย่างต่อเนื่อง โดยใช้หลักอิทธิบาท 4  คือ ฉันทะ  วิริยะ  จิตตะ  วิมังสา จนกระทั่งได้รับผลคือปฎิเวธ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน อย่าลืมว่าเป้าหมายก็คือ  "ทำพระนิพพานให้แจ้ง"   ส่วนการจะไปปฎิบัติ กับครูบาอาจารย์สำนักไหนก็ลองตรวจสอบดูว่าสอดคล้องกับมหาสติปัฎฐานสูตรหรือไม่ มิฉะนั้นจะกลายเป็นสวนทางนิพพานไป อันเป็นทางมิใช่ทาง ส่วนรายละเอียด หาอ่านเอาจาก มหาสติปัฎฐานสูตร พุทธทาสภิกขุ แปล หรือไม่ก็หาอ่านเอาจากบทสวดมนต์แปลก็ได้ ตามแต่สะดวก ในส่วนของโครงสร้าง ลอกเอามจากที่ ท่านพุทธทาสท่านแปลไว้

                       

วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555

รัฐสัตว์ ( ANIMAL FARM ) โดย George Orwell

แอนนิมอล ฟาร์ม  หรือรัฐสัตว์ เป็นวรรณกรรม ที่เขียนขึ้นมาเพื่อสะท้อนและเสียดเย้ยการปฎิวัติ ที่ใช้ตัวละครเป็นสัตว์สะท้อนภาพของการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของมนุษย์ โดยการดิ้นรนปฎิวัติเพื่อไปสู่สังคมอุดมคติ เมื่อพังทะลายการกดขี่ขูดรีด การเอารัฐเอาเปรียบจากผู้ปกครองทรราช ในนามของรัฐบาลหนึ่งแล้วความหวัง ที่จะมีชีวิตที่ดีกว่าก็เจิดจ้าขึ้น ยอมอุทิศทำงานหนักในนามของอุดมการณ์ เพื่ออนาคตตัวเองและลูกหลาน ในช่วงเปลี่ยนผ่าน งานหนัก ความเป็นอยู่ก็ยากลำบากเหมือนเดิม บางทีกลับหนักกว่าเดิม เสียด้วยซ้ำ ทำนองเหลือบฝูงเก่า กับเหลือบฝูงใหม่ในนิทานอีสป ที่ไล่เหลือบฝูงเก่าไปเหลือบฝูงใหม่ก็จะมาดูดเลือดกินอย่างหิวกระหายสร้างความเดือดร้อนให้ยิ่งกว่าเหลือบฝูงเก่าที่กินจนอิ่มแม้จะลำบากที่ถูกเกาะกิน แต่ก็ไม่ลำบากเท่าความตระกรุมตระกรามของเหลือบฝูงใหม่ ผู้คนในสังคมมีชีวิตอยู่กับความหวังและความฝันลมๆแล้งว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่า แต่สุดท้ายก็เป็นได้แค่ความหวัง ทรราชเก่าจากไป
ทรราชใหม่ก็เข้ามาแทนที่ แอนนิมอล ฟาร์ม สะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงการปฎิวัติให้เห็น โดยเฉาะเจาะจงจะเน้นไปที่การปฎิวัติในรัสเซีย การก้าวขึ้นมาของชนชั้นปกครองใหม่ ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นปกครองด้วยกัน และความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน ถูกผู้เขียนสะท้อนออกมาโดยใช้ตัวละครที่เป็นสัตว์ และเลือกสัตว์ที่มีคุณสมบัติ สะท้อนภาพลักษณ์ ของคนแต่ละชนชั้น แบบเสียดเย้ยชนิดขำลึกจนเจ็บจุกสังคมรัสเซีย ปฎิวัติขับไล่พระเจ้าซาร์ โดยมีธงนำแนวความคิด ของมาร์กซ์ โดยที่เลนินเป็นผู้นำมาประยุกต์ใช้ จนกลายเป็นทฤษฎี มาร์กซ์- เลนินอันลือลั่นส่งผลสะเทือนไปทั้งโลก ต่อมาอำนาจถูกถ่ายมือไปยังสตาลิน โดยความขัดแย้งและช่วงชิงอำนาจกับ ทร๊อตสกี้ สร้างความเดือดร้อนส่งผลกระทบไปสู่ประชาชนที่ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางของเรื่องราว และสุดท้ายเหมือนคำกล่าวอมตะ ที่ว่าผู้ชนะก็คือผู้เขียนประวัติศาสตร์ ประชาชนยังคงอยู่กับความหวังความฝันลมๆแล้งกับสิ่งที่เรียกว่าชีวิตที่ดีกว่า โดยผ่านอุดมการณ์ปฎิวัติครั้งแล้วครั้งเล่า เหลือบฝูงเก่าถูกโค่นลงไป เหลือบฝูงใหม่ที่พรางตัวได้แนบเนียนกว่าก็เข้ามาแทนที่ จนกว่าวันหนึ่งประชาชนจะตื่นรู้ และคนในสังคมส่วนใหญ่ที่มีอำนาจตื่นรู้ และตระหนักถึงพิษภัย ของความ โลภ โกรธ หลง กระมังสังคมยูโทเปียที่นักคิดใฝ่ฝันจะปรากฎเป็นจริงขึ้นมาได้ ซึ่งจะเป็นเมื่อไหร่นั้น มิรู้เลย แอนนิมอล ฟาร์ม โดยGorge Orwell เป็นกระจกเงาสะท้อนสังคม
ที่การดิ้นรนไปสู่สิ่งที่ดีกว่า จบลงตรง ท่วงทำนอง อัปรีย์ไปจัญไรมา ก็เห็นจะไม่ผิดความจริง ลองหาอ่านดูเถอะครับ