วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่ โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

 ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่ โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเรื่องที่เขียนลงในคอลัมน์ "ซอยสวนพลู" ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ตั้งแต่วันเสาร์ที่ ที 20 สิงหาคม 2531ถึง วันเสาร์ที่ 5พฤศจิกายน 2532  ซึ่งผู้เขียนกล่าวไว้ว่า " เป็นความพยายามที่จะนำเอาสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในเรื่องขุนช้างขุนแผน อันเปรียบเสมือนขุมทรัพย์อันใหญ่นั้นออกมาให้ดู และชี้แจงว่าอะไรเป็นอะไร และมีความสำคัญอย่างไร"
 ท่านผู้เขียน ได้ปรารภในบทแรกว่า มีท่านผู้รู้บางท่านได้แสดงความเห็นว่าหนังสือเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นหนังสือไร้ศีลธรรมและเป็นตัวอย่างไม่ดีควรเผาทิ้งเสีย(คำว่าเผาทิ้ง นี้เป็นกระแสหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กระแสประชาธิปไตยเบิกบาน ได้ต้นเค้ามาจากปฎิวัติวัฒนธรรมในเมืองจีน ที่ปฎิเสธ
วัฒนธรรมศักดินาล้าหลัง และขัดขวางกระบวน การประชาธิปไตย-คำว่าเผานั้นบางกระแสบอกว่าเป็นเพียงไม่ให้เกียรติ ยกย่องเชิดชู วัฒนธรรมประเพณี ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ ประชาชน รวมทั้ง การไม่ยกย่องในสิ่งที่เป็นความชั่วความเลว เช่นการกดขี่ทางเพศ   เยี่ยงที่พระเอกปฏิบัติ จนเป็นที่มาของสำนวนที่ว่า "อํญเชิญความชั่วขึ้นพานทอง" มิได้หมายถึงการเผาจริงๆ)
 สิ่งที่ท่านผู้เขียน มอง  กับกระแส สังคมในสมัยนั้น ก็นับว่ามีเหตุผลด้วยกันทั้งสองฝ่ายแต่ต่างกันตรงจุดยืน ท่านผุ้เขียน ทบทวนเรื่องขุนช้างขุนแผนในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม  การเมืองการปกครอง ประเพณี ในสายตาที่จะชี้ให้เห็นว่ามีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไร ไม่ว่าจะชอบหรือชังก็เป็นรากเหง้าที่มาของสังคมไทย ที่สะท้อนภาพตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายมาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นคือถึงสมัยรัชกาลที่สี่ (ถ้าจะศึกษาต่อต้องอ่าน สี่แผ่นดินซึ่งเป็นเรื่องราวตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้าเป็นต้นมา) ขุนช้างขุนแผน เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นดังที่กล่าว ท่านบอกว่าขุนช้างขุนแผนเป็นเสภา ที่เกิดจากคนคุกยกย่องคนคุก เป็นความบันเทิงของคนคุก ฉะนั้นพระเอกของเรื่องจึงเป็นคนคุกและการเก็บเรื่องราวรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราวภายในคุกจึงทำได้ชนิดมองเห็นภาพ การบันทึกเรื่องราวของขุนช้างขุนแผนเป็นไปในรูปมุขปาฐะ คือจำต่อๆกันมาโดยการขับเสภา เบื้องต้นท่านวิเคราะห์ว่าดนตรีที่ใช้คือเสียงโซ่ตรวนของคนคุกและพัฒนาต่อมาจนเป็นกรับ เป็นดนตรีไทย รับกันต่อๆมา ท่านผู้เขียนได้วิเคราะห์ ถึงที่มาที่ไปให้เกร็ดความรู้ในเรื่องศัพท์แสงที่อยู่ในวรรณคดีเรื่องนี้ เช่นคำว่าทิม มาจากคำว่าทรึมของเขมร และมีคำศัพท์อื่นๆอีกหลายเรื่องหลายราว รวมทั้งภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ที่ปรากฎอยู่ในวรรณคดีเรื่องนี้ ทำให้คนรุ่นหลังเข้าใจเรื่องราวมากขึ้น เจตนาของผู้เขียนก็เพื่อให้ท่านผู้อ่านซึ่งเป็นคนรุ่นหลังเข้าใจที่มาที่ไปของวรรณคดีเรื่องนี้และได้รับรสแห่งวรรณคดีไปด้วย และที่สำคัญท่านผู้เขียนต้องการให้อ่านฉบับเดิมซึ่งท่านชี้ให้เห็นว่ามีอะไรดีๆอยู่ในนั้น มากมาย โดยรวม วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนท่านผู้เขียนมองเห็นคุณค่าและชี้ให้เห็นถึงความอ่อนด้อย โง่เขลาเบาปัญญา และความเป็นมาของการเมืองการปกครองไทย
รวมถึงประเพณีกินสินบาทคาดสินบนในสังคมไทย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับราชการ และทีขาดไม่ได้คือเกี่ยวกับคนคุก ท่านชี้ให้เห็นว่า วรรณคดีขุนช้างขุนแผน หลายคนแต่งจดจำขับขาน จดจาร ต่อเนื่องกันมา จนแตกปลายหมุนวนปะติดปะต่อ จนเป็นวรรณคดีอย่างที่เราท่านได้เคยอ่านกันอยู่บ้าง ส่วนมุมมองที่มาจากจุดยืนของแต่ละท่านจะตีความเห็นด้วยไม่เห็นด้วยชอบหรือชังก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละท่านแต่สิ่งหนึ่งที่เราท่านไม่อาจปฎิเสธ ได้ก็คือรากเหง้าที่ดำรงอยู่จริงและบางเรื่องก็ยังดำรงอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน เห็นควรหันกลับไปอ่านขุนช้างขุนแผนอีกครั้งหลังจากได้ข้อมูลของท่านผู้เขียนขุนข้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่ กันอีกสักทีดีไหมเหมือนกับการหันกลับไปส่องกระจกเงาดูหน้่้าตาตัวเอง ดังคำกล่าวที่ว่า" ดูสังคมจากวรรณคดี ดูวรรณคดีจากสังคม" ไงครับท่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น