วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555

ไตร่ตรองมองหลัก เขมานันทะ

 ไตร่ตรองมองหลัก โดยเขมานันทะ    เป็นบทความว่าด้วยศาสนาและปรัชญา เป็นงานบรรยายให้นักศึกษาปริญญาโท มหาลัยมหิดลและงานเขียน อื่นๆ หนังสือประกอบไปด้วยบทนำ ที่พูดถึงการยึดติดในความเชื่อทั้งในสิ่งที่เป็นรูปธรรมเช่นสำนัก อาจารย์  หรือสิ่งที่เป็นนามธรรมเช่นการเข้าถึงภาวะที่มนุษย์ใฝ่หาไม่ว่าจะมีชื่อเรียกว่าอะไร นิพพาน พรหม  พูดถึงความคิด จริยธรรมในระดับโลกียและโลกุตระว่าเนื่องด้วยความคิด ไม่ห้ามความคิด ไม่เข้าไปในความคิด เพียงแต่เฝ้ามองความคิดด้วยความตระหนักรู้
ทำนองรู้แล้วทิ้ง(รู้แต่ไม่รู้อะไร) เหมือนนิทานเซนที่บอกว่าไปตลาดแต่มิได้เอาอะไรกลับมา
บทแรก "สาระสำคัญแห่งวัชรญาณตันตระ เป็นคำบรรยายแก่นักศึกษาระดับปริญญาโทศาสนาเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา ในคำบรรยายพูดถึงความเข้าใจผิดๆของคนไทยเกี่ยวกับมหายาน นิกายตันตระ วัชระยาน และชี้ให้เห็นถึงความเป็นเอกยาน ไม่ว่าจะเป็นเถรวาทหรือมหายานสุดท้ายก็มุ่งตรงจุดหมายปลายทางสิ่งเดียวกันเพียงแต่มหายานมีคติที่จะเข้านิพพานเป็นคนสุดท้ายหลังจากช่วยส่งสรรพสัตว์เข้าสู่นิพพานแล้ว คือเป็นเรื่องมหาชน แต่ทางเถรวาทมีคติว่าการเข้าถึงจุดมุ่งหมายเป็นเรื่องเฉพาะตนไม่สามารถจะขนเข้าสู่เป้าหมายเป็นกองทัพธรรมได้   ในบทนี้ท่านได้กล่าวถึงความเข้าใจผิดในเรื่องตันตระว่าเป็นยุคสมัยที่แผ่คลุมไปถึงพวกฮินดูด้วยมิใช่มีเพียงพุทธศาสนา เท่านั้น และชี้ให้เห็นถึง การเสพย์ ในสิ่งที่คนไม่มีพื้นฐานของการเข้าสู่กระแสธรรม รับไม่ได้ ไม่เข้าใจ ทำให้มองว่าเป็นเรื่อง
นอกรีตนอกรอยไป ไม่ว่าจะเรื่องการเสพย์เนื้อ เสพย์สุรา และการเสพย์เมถุน ท่านชี้ให้เห็นว่าเป็นเรื่องเฉพาะ เป็นเรื่องวงใน ที่คนไม่ได้อยู่ในวงการไม่มีทางเข้าใจได้ และเป็นการกระซิบบอกต่อจากอาจารย์สู่ศิษย์แบบกระซิบตัวต่อตัว วิธีการแบบหนามยอกเอาหนามบ่ง เอาไฟไปดับไฟ เพราะว่าตัณหาราคะนั้นเป็นความตื่นของจิตเพียงแต่สติไม่ว่องไวพอทีจะโหนกระแสของความตื่นนี้ไปตระหนักรู้
บทที่สอง ข้อพินิจไตร่ตรอง ต่อความมีอยู่และไม่มีอยู่ของสิ่งต่างๆ  ซึ่งเป็นบทความในการสัมมนาทางวิชาการ ณ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้หัวข้อใหญ่ "สภาวะสูงสุดแห่งศาสนา" กล่าวโดยรวมๆเป็นเรื่องของความคิดและการเฝ้าดูความคิด การแยกผู้ดูออกจากสิ่งที่ดู เหมือนพยับแดด เห็นว่ามีแต่เมื่อเข้าไปดูใกล้ก็ไม่มีแต่พอถอยกลับออกมากลับมี
บทที่สาม" เหนือความคิด "เป็นการพูดถึงสูตรของเว่ยหล่าง ที่สรุปออกมาเป็นโศลกได้สองบทที่แตกต่างกันชนิดหนังคนละซีน
โสลกบทแรกเป็นของชินเชาซึ่งอยู่ในคลองความคิดของความมีอยู่ เป็นอยู่ความว่า
 "กายของเราคือต้นโพธิ
และใจของเราคือกระจกเงาอันใส
เราเช็ดมันอย่างตั้งใจในทุกๆโมงยาม
ทั้งไม่ยอมให้ฝุ่นธุลีปรากฎขึ้นได้ "

ส่วนโศลกอีกบทหนึ่งเป็นของเว่ยหล่างสังฆปรินายกสมัยยังเป็นอุบาสกทำงานอยู่ในโรงครัวสำนักวัดตุงชัน

 "ไม่มีต้นโพธิ
ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสว่าง
เมื่อทุกสิ่งว่างไร้
ฝุ่่นจะปรากฏได้ที่ไหน "
  ท่านเว่ยหล่างชี้ให้เห็นถึงจิตเดิมแท้ "ใครเลยจะนึกว่าแก่นสารทางใจนั้นบริสุทธิ์หมดจดอยู่เองแล้ว ใครเลยจะนึกว่า แก่นสารทางใจนั้นอิสระอยู่เองแล้วจากการเกิดขึ้นหรือการถูกทำลาย ใครเลยจะนึกว่าแก่นสารทางใจนั้นอิสระจากการเปลี่ยนแปลงโดยแท้จริง ใครเลยจะนึกว่าทุกๆสิ่งทุกๆอย่างคือการปรากฏออกแห่งแก่นสารแห่งใจ"

พรหมจรรย์และฐานแห่งการภาวนา เป็นบทสนทนาเรื่องสติปัฏฐานสี่กับอ. ปรีชา ก้อนทอง เมื่อมกราคม 2538
ท่านอธิบายถึงเรื่องสติปํฎฐานสี่ ตั้งแต่ เรื่องกาย เวทนา จิตและธรรม การเห็นความความคิดโดยอาศัยบาทฐานทั้งสี่เป็นตัวตั้งโดยมีหลักของการเคลื่อนไหว เพื่อรู้แต่ไม่รู้อะไร และกล่าวถึงสติไม่ใช่องค์คุณเดียวของพรหมจรรย์ ต้องมีสมาธิและปัญญาร่วมด้วยเพราะลำพังสติอย่างเดียวไม่อาจละเวรได้ โดยอธิบายว่า เวรคือเมื่อถึงรอบต้องทำอีก เช่นการอยู่เวรอยู่ยาม ท่านพูดถึงการรู้สึกตัวสดๆถ้วนๆล้วนๆ
เป็นประสาทสัมผัสไม่ผ่านคลองความคิด เพราะมนุษย์มักจะติดคิด และไม่สามรถหลุดออกมาจากคลองความคิดได้
ส่วนบทสุดท้ายที่เพิ่มเติมเข้ามาเป็น "โศลกคำสอนมหามุทราของติโลปะ "เป็นโศลกทั้งหมดยี่สิบแปดบท "โศลกธรรมยี่สิบแปดบท แห่งคำสั่งสอน มหามุทราของติโลปะต่อนโรปะ"
 โศลกคำสอนมหามุทรายี่สิบแปดบทของมหาคุรุมหาสืทธาติโลปะ ถูกถ่ายทอดสู่บัณฑิตย์แห่งกัศมีร์ นักพรตและสิทธานโรปะ ณ.ริมฝั่งแม่คงคา หลังจากนโรปะสำเร็จการบำเพ็ญตบะธรรม สิบสองประการ นโรปะถ่ายทอดคำสอนในภาษาสันสกฤตสู่ มารปะโบลสะโกรสะ อันท่านได้แปลอย่างอิสระเป็น๓าษาธิเบต ณ.หมู่บ้านบุลาหริพรมแดนธิเบต-ภูฐาน
 บทสรุปของโทหโกษ เป็นธรรมวาทะสุดท้ายแห่งการปฎิบัติมหามุทราแปลจากสันสกฟตเป็นธิเบตโดยนักพรตชาวอินเดียชื่อไวโรจนะ แปลเป็นอังกฤษโดยKlethDawman  (Zอนาคาริก Kunzan tenzin )และแปลเป็นไทโดย เขมานันทะ

บทสรปของโศลกนี้

 ปราศจากความคิด ปราศจากความไตร่ตรองพิจารณา
หรือแยกแยะโดยประการใด
ปราศจากสมาธิและทั้งปราศจากการกระทำ (กรรม) ใดๆ
ปราศจากความสงสัยกังขา หรือคาดหมาย
การปรุงแต่งก่อตัวทางจิต และสภาพฝัดใฝ่สลายไปเองแล้ว โฉมหน้าเดิมของความจริงพลันฉานฉาย

หนังสือ ไตร่ตรองมองหลัก ผลงานของเขมานันทะ ศิลปินแห่งชาติเจ้าของวาทะ การมีครูบาอาจารย์ไม่จำเป็นต้องมีแค่ครูบาอาจารย์คนเดียว ท่านเป็นศิษย์สวนโมกข์ผู้ปั้นอวโลกิเตศวรฝากไว้ และเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเทียน "ปรีชาญาณของผู้ไม่รู้หนังสือ"  จากคำพูดอันใสซื่อ แต่ฉุดกระชากความรู้สึกชนิดต้องฉุกคิด ว่า"ความรู้ที่ท่านเอามาพูดนี้เอามาจากไหน"
นี่กระมัง ที่ไม่ต้องชี้ชวนว่าควรหามาอ่าน "ไตร่ตรองมองหลัก" โดยเขมานันทะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น