วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

พระบาลี มหาสติปัฎฐานสูตร

ถ้าสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เปรียบเหมือนใบไม้ทั้งป่า แต่สิ่งที่ท่านนำมาสอนเท่ากับใบไม้กำมือเดียว คือท่านสอนเรื่องทุกข์กับดับทุกข์ ทุกข์ในที่นี้คือ ทุกข์อุปาทาน(ตัวกู-ของกู) ซึ่งเป็นทุกข์ทางใจ ส่วนทุกข์ทางกายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เช่นปวดหัวตัวร้อนก็ต้องไปหาหมอรักษา เป้าหมายของชาวพุทธ คือ ทำ พระนิพพานให้แจ้ง ถ้านิพพานหมายถึงความดับเย็น แห่งจิต ทำอย่างไรเล่าจึงจะไปถึง
"ภิกษุ ทั้งหลาย หนทางนี้ เป็นหนทางไปทางเดียว เพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย -เพื่อการก้าวล่วงเสียซึ่งความโศกและความร่ำไรรำพัน-เพื่อความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งทุกข์และโทมนัส -เพื่อบรรลุธรรมอันสัตว์พึงรู้-เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง หนทางนี้คือ สติปัฏฐานสี่ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าทฤษฎี หรือปริยัติที่ว่าด้วยการดับทุกข์
      โครงสร้างแห่งมหาสติปัฎฐาน
 เพื่อกำหนดเนื้อความได้ชัดเจนแม่นยำ ควรทราบโครงของบาลีนี้เสียก่อนอย่างกว้างๆ ท่านแบ่งเป็นสี่หัวข้อใหญ่ แล้วแบ่งย่อยออกได้ดังนี้คือ
 1 กายานุปัสสนาสติปัฎฐาน  พิจารณาโดยวิธีต่างๆคือ
              1 อานาปาน  รู้กายคือลมหายใจ    มี 4 อย่าง
               2  อิริยาบท รู้กายคืออิริยาบท      มี4 อย่าง
                3  สัมปชัญญะ  รู้กายคือการเคลื่อนไหว   มี  7 อย่าง
               4 ปฎิกูล   รู้ของไม่สะอาดในกาย มี 31  อย่าง
               5  ธาตุ     รู้กายประกอบด้วยธาตุ มี 4 อย่าง
               6  นวสีวถิกา  รู้กายเปรียบด้วยซากศพ  มี  9 อย่าง

2 เวทนานุปัสสนาสตืปัฎฐาน      พิจารณาเวทนาทั้งสามโดยอาการต่างๆ มีสุข มีทุกข์  มีเจืออามิส หรือไม่มีเจืออามิสเป็นต้น    มี 9 อย่าง

3   จิตตานุปัสสนาสติปัฎฐาน    พิจารณาจิตที่มีภาวะต่างๆกันมีเจือด้วย กิเลสหรือไม่ เป็นต้น มี 16 อย่าง

4  ธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน  พิจารณาธรรมทั้งหลายเป็นข้อๆคือ
                   1   ว่าด้วยนิวรณ์    มี  5  อย่าง
                    2  ว่าด้วยอุปาทานขันธ์  มี  5 อย่าง
                    3   ว่าด้วยอายตนะภายในภายนอก   มี  6  อย่าง
                    4   ว่าด้วยโพชฌงค์    มี   7  อย่าง
                     5  ว่าด้วย อริยสัจ      มี 4  อย่าง คือ  
                     ก.  ทุกข์ 12  ชนิด
                     
                      ข.   สมุหทัย  10  หมวด

                       ค.  นิโรธ  10 หมวด

                       ง. มรรคมีองค์ 8   องค์
 เมื่อได้ทฤษฎี หรือปริยัติแล้ว สิ่งที่จะต้องทำต่อไปก็คือการปฎิบัติ อย่างต่อเนื่อง โดยใช้หลักอิทธิบาท 4  คือ ฉันทะ  วิริยะ  จิตตะ  วิมังสา จนกระทั่งได้รับผลคือปฎิเวธ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน อย่าลืมว่าเป้าหมายก็คือ  "ทำพระนิพพานให้แจ้ง"   ส่วนการจะไปปฎิบัติ กับครูบาอาจารย์สำนักไหนก็ลองตรวจสอบดูว่าสอดคล้องกับมหาสติปัฎฐานสูตรหรือไม่ มิฉะนั้นจะกลายเป็นสวนทางนิพพานไป อันเป็นทางมิใช่ทาง ส่วนรายละเอียด หาอ่านเอาจาก มหาสติปัฎฐานสูตร พุทธทาสภิกขุ แปล หรือไม่ก็หาอ่านเอาจากบทสวดมนต์แปลก็ได้ ตามแต่สะดวก ในส่วนของโครงสร้าง ลอกเอามจากที่ ท่านพุทธทาสท่านแปลไว้

                       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น